Sunday, June 30, 2013

Postscript (ปัจฉิมลิขิต) "กงจักรปีศาจ" ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน: ครูเกอร์เขียนถึงปรีดี ซึ่งเขาเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2514

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Sunday, June 30, 2013 at 8:55pm




หนังสือ The Devil's Discus หรือ "กงจักรปีศาจ" โดย เรน ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเพียงครั้งเดียวในปี 2507 (1964)

แต่ตามข้อมูลของคุณ C.J. Hinke แห่งกลุ่ม FACT (Freedom Against Censorship Thailand) เคยมีการพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" ในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง (ดูข้อมูลของคุณ Hinke จากกระทู้นี้ ที่ New Mandala ข้อความอ้างตรง (direct quotation) ที่ 2 http://goo.gl/pd6uM) คุณ Hinke ไม่เคยให้รายละเอียดฉบับภาษาญี่ปุ่น และ ดังทีจะกล่าวต่อไป คุณ Hinke ไม่มีข้อมูลเรื่องความเกี่ยวข้องของครูเกอร์ กับฉบับภาษาญี่ปุ่นดังกล่าว

ผมเองไม่เคยเห็นฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นที่ว่านี้ และก่อนหน้านี้ ก็ไมค่อยแน่ใจว่า มีจริงหรือไม่ จนเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ข้อมูลจาก ญาติมิตรคนรู้จักครูเกอร์คนหนึ่งว่า มีการตีพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้น ครูเกอร์ ยังได้เขียน "ปัจฉิมลิขิต" (Postscript) สั้นๆ เพื่อรวมเข้าไว้ในตอนท้ายของ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นนั้นด้วย

Posscript สำหรับ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นนี้ ครูเกอร์เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (เพื่อส่งให้ผู้จัดพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นไปแปลและพิมพ์รวมไว้ท้ายเล่ม) ผมไม่มีข้อมูลว่า สุดท้าย "ปัจฉิมลิขิต" นี้ ได้รับการรวมอยู่ใน "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่น ตามความต้องการของครูเกอร์หรือไม่ เพราะไม่เคยเห็นฉบับภาษาญี่ปุ่นดังกล่าว ต้นฉบับ Postscript นี้ เขียนขึ้นในช่วงต้นของปี 2515 (1972) ไม่เกินเดือนมิถุนายน

เมื่อ 2 ปีก่อน คุณ Hinke ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณ Prue Leith ภรรยาของครูเกอร์ (ครูเกอร์ ถึงแก่กรรมในปี 2545) จากคำถาม ดูเหมือนว่าคุณ Hinke ไม่รู้มาก่อนว่า ครูเกอร์ รู้ถึงการแปลและการจัดพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" เป็นภาษาญี่ปุ่น (ดูบทสัมภาษณ์ที่นี่ http://goo.gl/BZJAl ) จาก Postscript นี้ ยืนยันว่า ครูเกอร์ไม่เพียงแต่รู้ถึงการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น เขายังได้เขียน "ปัจฉิมลิขิต" ให้สำหรับฉบับพิมพ์นั้นด้วย (ดูจากคำตอบ คุณ Leith เองก็อาจจะไม่รู้เรื่องที่ครูเกอร์เขียน "ปัจฉิมลิขิต" นี้ให้)

C.J. Hinke: Was Rayne aware of the Japanese and Thai translations of The Devil’s Discus? Was he in contact with their translators?

Prue Leith: Yes, he’d been sent various translations, but since he did not read  Thai or Japanese language, he has never read them.

คุณเรนรู้หรือไม่ว่ามีการแปล The Devil's Discus เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย? เขาได้ติดต่อกับคนแปลหรือไม่?

ใช่ เขาได้รับการส่งคำแปลในภาษาต่างๆมาให้ แต่เนื่องจากเขาอ่านไทยหรือญี่ปุ่นไม่ได้ เขาจึงไม่เคยอ่านฉบับแปลพวกนั้น 

จากข้อมูลที่ผมมีอยู่ ในระหว่างการค้นคว้าและเขียน "กงจักรปีศาจ" ครูเกอร์ไม่เคยติดต่อหรือพบกับปรีดีเลย เพราะขณะนั้น ปรีดีลี้ภัยอยู่ในจีน และไม่เกี่ยวข้องด้วย

เล่ากันว่า (หนึ่งในคนเล่าเรื่องนี้คือ พอล แฮนด์ลี่ ผู้เขียน The King Never Smiles ดูความเห็นหมายเลข #9 ท้ายกระทู้ New Mandala ที่อ้างถึงข้างต้น) คนที่มีบทบาท - หรือถ้าจะว่า "อยู่เบื้องหลัง" หรือ "สนับสนุน" - ให้ครูเกอร์ เขียน "กงจักรปีศาจ" คือ "ท่านชิ้น" หรือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ น้องชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7

จาก Postscript นี้ ครูเกอร์ได้ยืนยันว่า เพิ่งพบปรีดีเป็นครั้งแรก ในปี 2514 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากปรีดี ย้ายจากจีนมาฝรั่งเศส

ใน Postscript สั้นๆนี้ ครูเกอร์เล่าความรู้สึกประทับใจและยกย่องปรีดีไว้อย่างน่าสะเทือนใจ ดังนี้ (ขออภัยที่สำนวนแปลไทยของผมไม่ค่อยดีนัก ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้จะได้อรรถรสมากกว่า):

ปัจฉิมลิขิต

เป็นเวลาเกือบสิบปี ตั้งแต่ที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้. เวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผมต้องเปลี่ยนข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปใดๆของหนังสือ.

ในเวลาดังกล่าว สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมได้ทรุดหนักลง ความทุกข์ยากเดือดร้อนของมวลชนยิ่งเข้มข้นมากขึ้น. ในประเทศไทยเอง การปกครองแบบเผด็จอำนาจและฉ้อโกงของทหารไม่ได้ลดทอนลง.

ในสภาพเช่นนี้ ถ้าเราจะยังพอมองเห็นความหวังได้ที่ไหน ก็คือที่ตัวบุคคลและแบบอย่างของ ปรีดี พนมยงค์. ปีที่แล้ว หลังจากเขาได้ปรากฏตัวจากประเทศจีน มาอาศัยในยุโรปตะวันตก, ผมได้มีประสบการณ์สะเทือนใจในการได้พบปะกับเขาเป็นครั้งแรก เขาผู้ซึ่งโชคชะตาและการปองร้าย ได้พยายามทำลายอย่างไร้ผล. กล้าหาญและทรงปัญญา, สุภาพและมีอารมณ์ขัน, วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับสังคมยุติธรรมสำหรับประชาชนของเขา ยังคงไม่มัวหมองลงเลย เช่นเดียวกับความใสสว่างเป็นประกายในดวงตาของเขาทีมองเห็นวิสัยทัศน์นั้น -- เป็นไปไม่ได้เลย ที่ใครที่ได้รู้จักเขาจะไม่รู้สึกอย่างลึกๆถึงโศกนาฏกรรมของการที่เขาต้องลี้ภัยจากประเทศจนบัดนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่เกิดความรู้สึกมีความหวัง สำหรับประเทศของเขาที่สามารถผลิตคนอย่างเขาขึ้นมาได้ และสำหรับโลกกว้างออกไป ที่บุคคลที่น่าอัศจรรย์อย่างหาได้ยากเช่นนี้ ได้ช่วยชี้ทางข้างหน้าให้เราทุกคน 





* ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า "ปัจฉิมลิขิต ... ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน" เพราะดังกล่าวแล้วว่า ผมไม่รู้ว่า มีการรวม "ปัจฉิมลิขิต" นี้อยู่ในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นหรือไม่ อีกอย่างหนึ่ง หากมีการรวมอยู่ในฉบับนั้นด้วย ก็คงเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ใช่ภาษาอังกฤษตามต้นฉบับนี้ ดังนั้น ก็เรียกได้ว่า "ปัจฉิมลิขิต" ในภาษาอังกฤษนี้ "ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน" จริงๆ ทีสำคัญ ผมไม่คิดว่า มีคนเคยเห็นหรือพูดถึง "ปัจฉิมลิขิต" นี้มาก่อน

Saturday, June 22, 2013

ข้อมูล "ใหม่": คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของ วีระ มุสิกพงศ์ ปี 2531 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักราชเลขาธิการ ติดต่อศาล เรื่องคดี

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Wednesday, February 13, 2013 at 9:36am






ก่อนอื่น ผมต้องขออธิบายชื่อหัวข้อ ที่ผมใส่คำว่า "ใหม่" (ในเครื่องหมายคำพูด) สักเล็กน้อย

เอกสารสำเนาจดหมายจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สำนักราชเลขาธิการ ที่ผมนำมาแสดงนี้ อันที่จริง เป็นเอกสารที่ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2531 แต่เนื่องจากสมัยนั้น ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือการทำเอกสารให้เป็นไฟล์ภาพดิจิตอลเก็บรักษาไว้ ในการเผยแพร่สมัยนั้น ก็จะต้องใช้วิธีถ่ายสำเนาแจกจ่ายแบบลับๆ เช่น ส่งเป็นจดหมาย หรือวางเป็นใบปลิวในที่สาธารณะบางแห่ง ซึ่งโดยรวมแล้วก็สามารถทำได้ในขอบเขตที่จำกัดมาก และถ้าไม่ถูกเก็บรักษาไว้ ก็ง่ายจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิงได้ ผมเองก็เพิ่งได้เคยเห็นเอกสารนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆนี้ จากการที่มีผู้ไปค้นพบสำเนาเอกสารนี้ฉบับหนึ่ง ที่มีบางคนเก็บรักษาไว้ตั้งแต่สมัยนั้น (พูดอีกอย่างคือ เครดิตในการค้นพบเอกสารนี้ ไม่ใช่ของผม ผมเพียงแต่เป็นผู้นำมาเสนอ เพราะผู้ค้นพบ ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำเสนอเองได้)

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันจริงๆ เอกสารนี้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ "ใหม่" เสียทีเดียว คือ คงมีคนจำนวนหนึ่งไม่มากนัก ที่เคยเห็นตั้งแต่สมัยนั้น เพียงแต่ (เท่าที่ผมทราบ) ตลอด 20 กว่าปีนี้ คงแทบจะไม่มีใครได้เห็นอีก หรือที่แน่ๆ ไม่ได้มีการเผยแพร่กันอีก

ผมนำมาเผยแพร่ในที่นี้ โดย "เซ็นเซอร์" ชื่อผู้รับจดหมาย ซึ่งเป็นหนึงในคณะตุลาการพิจารณาคดีวีระ มุสิกพงศ์ ("แถบดำ" แรกสุด), ชื่อของนายทหารระดับสูงในขณะนั้น (ปัจจุบันก็ยังอยู่ในแวดวงราชสำนัก) ที่ผู้เขียนจดหมายอ้างถึง ("แถบดำ" ที่สอง) และ เบอร์โทรศัพท์, ลายเซ็น, ชื่อ และตำแหน่งของผู้ส่งจดหมายเอง ("แถบดำ" ที่เหลือ)

เอกสารนี้มีความสำคัญมากในแง่ที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงปรากฎการณ์ที่มีผู้พูดกันมากโดยเฉพาะในระยะหลังๆนี้คือ เรื่องการ "อ้างสถาบันกษัตริย์" (หรือถ้าใช้สำนวนสมัยนี้ คือ บทบาทของ "อำมาตย์" ในการ "อ้าง สถาบัน")

ดังที่ผู้อ่านจะเห็นได้จากเอกสาร, ผู้เขียนจดหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักราชเลขาธิการ ได้อ้างว่า แม้การฟ้องร้องวีระ มุสิกพงศ์ จะ "ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง" แต่ผู้เขียนจดหมาย "ขอเรียนยืนยันว่าพระองค์ท่านคงไม่พอพระราชหฤทัยอยู่เป็นอันมาก เพียงแต่ไม่ทรงมีพระราชกระแสออกมาโดยตรงเท่านั้น" ซึ่งในปริบทของข้อความ เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนจดหมาย ต้องการจะอ้างว่า ในหลวง "คงไม่พอพระราชหฤทัย" เกี่ยวกับการกระทำของวีระ มุสิกพงศ์ "เป็นอันมาก" แม้ว่า พระองค์ จะ "ไม่ทรงมีพระราชกระแส" หรือไม่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ออกมา "โดยตรง" ที่จะให้ดำเนินคดีกับวีระ ก็ตาม

แน่นอน ถึงที่สุดแล้ว ลำพังจดหมายฉบับนี้ เราไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด และไม่สามารถบอกได้ว่า การเขียนจดหมายถึงตุลาการในคดีในลักษณะนี้ มีผลหรือไม่เพียงใด ต่อการวินิจฉัยและตัดสินคดีของตุลาการ 

สิ่งที่เอกสารนี้ยืนยันและสนับสนุน ในทัศนะของผม คือ ความจำเป็นของการที่ต้องมีการปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยรวม (ซึ่งรวมถึงองค์กรและบุคคลากรที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์) ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ของการ "อ้าง" ได้

เพราะถ้าสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีสถานะและอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ นอกเหนือการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆอย่างที่เป็นอยู่ (รวมทั้งการโฆษณาปลูกฝังข้อมูลด้านเดียว ในระบบโรงเรียนและชีวิตประจำวัน) ก็ไม่มีประโยชน์ หรือความจำเป็น ที่ใครจะคิด หรือสามารถจะนำไปอ้างใดๆได้ เช่นเดียวกับในประเทศประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์อืนๆ ที่ไม่มีใครคิดจะอ้างสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่เรื่องอย่างการเขียนจดหมายแบบนี้ ไปถึงเรื่องการทำรัฐประหาร อย่างในประเทศไทย


เอกสาร ปวศ ปี 2532: สำนักพระราชวังยืนยันพระเทพฯไม่ใช่รัชทายาท, กฤษฎีกายืนยันพระเทพฯไม่ได้รับการคุ้มครองจาก 112

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Sunday, February 10, 2013 at 5:49am





หมายเหตุ: เครดิตในการค้นคว้า และค้นพบเอกสาร ที่กล่าวถึงข้างล่างนี้ ไมใช่ของผม เป็นของนักวิจัยท่านอื่น แต่เนื่องจากท่านไม่อยู่ในสถานะที่จะนำเสนอด้วยตัวเองได้ จึงอนุญาตให้ผมเป็นผู้นำเสนอแทน 

อนึ่ง ผมควรย้ำด้วยว่า ต่างกับคนเสื้อแดงบางส่วน ที่มองเรื่องนี้ในทางการเมือง (ดูจากที่มีการทำเสื้อยืด "เรารัก พระบรมฯ" ออกเผยแพร่) ผมเองสนใจเรื่องนี้ ในเชิงข้อมูล ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น ผมไม่มีความเห็นหรือทัศนะเชิงการเมืองใดๆเกี่ยวกับการตั้งเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดเป็นรัชทายาท

.............................. 

ในกลางปี 2532 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ("กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ") หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา (ตามมาตรา 326 ของ ประมวลกฎหมายอาญา) ในส่วนที่เกี่ยวกับ "พระเทพฯ" - นี่คือภาพ หัวข้อ ของคำวินิจฉัย ดังกล่าว

เรื่องของเรื่องคือ กระทรวงมหาดไทย (ซึ่งขณะนั้น ควบคุมดูแลกรมตำรวจ) ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัย เนื่องจาก .... 


แต่เนื่องจากว่า ทางกรมตำรวจ เคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังว่า พระเทพฯ ทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ (ซึ่งถ้าเป็น จะได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 112) ซึ่ง สำนักพระราชวัง ได้เคยตอบมาว่า พระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท เพราะในหลวง "ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมุติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว" แล้ว คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และคำว่า "สยามบรมราชกุมารี" ในท้ายพระนามของพระเทพฯนั้น หาได้แปลว่า รัชทายาท (คือไมใช่ "สยามมกุฏราชกุมารี") แต่อย่างใด

ปัญหาที่ตามมาคือ ในเมื่อพระเทพฯไม่ได้ทรงเป็นรัชทายาท หากตำรวจจะดำเนินการเกี่ยวกับที่มีผู้หมิ่นประมาทพระองค์ ก็ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 112 ได้ แต่ต้องหันไปดำเนินการตามมาตรา 326 หรือความผิดหมิ่นประมาทธรรมดา "ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่ยอมความได้" และที่สำคัญ "พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว" นั่นคือ ในกรณีเช่นนี้ พระเทพฯจะต้องทรงร้องทุกข์ด้วยพระองค์เอง

ปัญหาคือ ทางตำรวจ ไม่ต้องการให้พระเทพฯทรงรู้ว่า มีผู้ทำการในลักษณะหมิ่นประมาทพระองค์!!


ทางกรมตำรวจ จึงถามมายังกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (ก) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระเทพฯ ตำรวจจะดำเนินการตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาได้หรือไม่ และ (ข) ถ้าไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามมาตรา 326  หรือกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา จะทำอย่างไร ไม่ให้พระเทพฯรู้ (เพราะตามมาตรา 326 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์เอง) 

คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่ สำนักพระราชวังเคยตอบกรมตำรวจก่อนหน้านั้น นั่นคือ พระเทพฯไม่ใช่รัชทายาท ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่า ตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้


ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบว่า การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 326 (หมิ่นประมาทธรรมดา) ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย "มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้" ดังนั้น ในกรณีพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ... 
แต่อย่างไรก็ตาม 

สรุปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่สามารถหาวิธีการที่ตำรวจต้องการ คือฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระเทพฯตามมาตรา 326 โดยไม่ต้องให้พระองค์ทรงรู้ เพราะถึงจะเป็นไปได้ที่พระองค์จะไม่เป็นผู้ร้องทุกข์เอง ก็ยังต้องทรงเป็นผู้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทน คือต้องทรงทราบเรื่องอยู่นั่นเอง มิเช่นนั้นการดำเนินคดีตามมาตรานี้ จะทำไม่ได้

โป๊สเตอร์ "วันพ่อ" ชุมนุมพุทธศาสตร์ มธ ปี 2544 และ 2545

July 24, 2012





Timeline Photos



ภาพที่ผมนำมาแสดงให้ดูนี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า

ในหลายปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ทศวรรษหลัง)

ลัทธิ "กษัตริย์นิยม" ได้ทำให้ คนที่มีการศึกษาสูงๆ สูญเสียความสามารถในการใช้เหตุผล ไปได้ขนาดไหน

เรียกว่า ถึงกับ "เสียสติ" ไปเลยก็ว่าได้

..................


นี่เป็นโป๊สเตอร์ ที่จัดทำโดย ชุมนุมพุทธศาสน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2544 (2 ภาพแรกจากซ้าย) และปี 2545 (ภาพขวาสุด)

เพื่อเชิญชวนให้ นักศึกษา อาจารย์ ข้าราชการ ธรรมศาสตร์ มาร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา

ขอให้อ่านข้อความนะครับ

"74 ปี กว่า 27,000 วัน ท่านทรงเหน็ดเหนื่อย ท่านทรงตรากตรำ ทำงานหนัก มาตลอด..."

"75 ปี กว่า 27,375 วัน ไม่มีวันใดเลย ที่ภาพของคนไทย จะห่างหายไปจากพระทัยของท่าน.."

ตอนที่ผมเห็นโป๊สเตอร์นี้ ไม่รู้จะหัวเราะ ด้วยความขำ หรือ ร้องไห้ ด้วยความเศร้าดี

ขอให้สังเกตดีๆนะครับ

"กว่า" 27,000 (สองหมื่นเจ็ดพัน) วัน กับ "กว่า" 27,375 (สองหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบห้า) วัน

คือ การเอา ตัวเลขจำนวนพระชนมพรรษา ในปีนั้น (74 กับ 75) ไป คูณ (x) กับ จำนวนวันเฉลี่ยของปี คือ 365 วัน (ยังอุตส่าห์ ใส่คำว่า "กว่า" เพราะบางปี มี 366 วันนั่นแหละ)



ทีนี้ ลองคิดดูนะครับ

ถ้าเป็นไปตามที่ โป๊สเตอร์เขียน

ก็แปลว่า ในหลวง ตั้งแต่วันแรก หรือวินาทีแรก ที่ทรงประสูตรจากพระครรภ์พระมารดา (พูดภาษาชาวบ้าน คือ "ตั้งแต่วันแรกหรือวินาทีแรกทีทรงคลอดออกมาจากท้องแม่")

ก็ "ทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงตรากตรำ ทำงานหนัก" และ "ภาพของคนไทย... (ไม่)ห่างหายไปจากพระทัยของท่าน" !!!

คิดให้ดีนะครับ ตั้งแต่ วันแรก ทีทรง "คลอดออกจากท้องแม่" เลยนะครับ

คือตั้งแต่พระชนม์ ยังไม่ทันครบ 1 วันดี เรื่อยไป ตลอดทีทรงพระเยาว์มากๆ เช่น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน ฯลฯ ฯลฯ

ก็ "ทรงเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำ ทำงานหนัก" และ มี "ภาพของคนไทย" อยู่ใน "พระทัยของทาน" แล้ว!!!!

แล้วขอให้ลองคิดนะครับว่า

ข้อความแบบนี้ เขียนโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยนะ (มหาวิทยาลัยผมนี่แหละ)


อย่างนี้ ไม่เรียกว่า "เสียสติ" ไปก็ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไรเหมือนกัน

กรณีข่าวลือในหลวงถูกจับ มีนาคม 2495

June 27, 2012





Timeline Photos



ถ้ามีเวลา ผมค่อยเขียนเล่าเรื่องนี้โดยละเอียดอีกที่ วันนี้ ขออธิบายย่อๆ ประกอบภาพนี้ ที่เอามาจาก นสพ.สยามรัฐ รายวัน ฉบับวันที่ 16 และ 18 มีนาคม 2495

คือในต้นเดือนมีนาคม 2495 ได้เกิดวิกฤติการเมือง ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของ จอมพล ป กับราชสำนัก อย่างแหลมคม จนนำมาซึง "ข่าวลือ" เรือ่งในหลวงถูกจับ จนรัฐบาล ต้องออกแถลงการณ์ออกมาชี้แจง (ดังภาพ)

ความขัดแย้งนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2494 ต่อต้น ธันวาคม 2495 เมื่อ "คณะรัฐประหาร 2490" หรือกลุ่มที่ให้การสนับสนุนจอมพล ป ในขณะนั้น (ผิน-เผ่า-สฤษดิ์) ทำการ "รัฐประหารตัวเอง" เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2495 เพียง ไม่กี่วัน ก่อนที่ในหลวงจะเดินทางเข้าประเทศไทย (ขณะเกิดรัฐประหาร เรือที่ทรงโดยสาร กำลังอยู่ในอ่าวไทยแล้ว ทรงมาถึงท่าเรือกรุงเทพ วันที่ 3 ธันวาคม 2495)

หลังจากนั้น ก็เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับราชสำนัก อย่างเข้มข้น โดยรวมศูนย์ที่ประเด็น รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ที่ฝ่ายรัฐบาลเอามาประกาศใช้ใหม่ มีการ "เจรจา" ในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้ว่า ควรเป็นอย่างไร (ในหลวงทรงส่งเอกสาร "พระราชวิจารณ์" ร่างรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ให้รัฐบาลด้วย)

ในที่สุด ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 นี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495

ปรากฏว่า ตอนแรก ในหลวงจะไม่ทรงเสด็จมาร่วมพิธี "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" ที่รัฐบาลประกาศไปแล้วว่า จะมีขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม จนรัฐบาลต้องประกาศเลื่อนหมายกำหนดการออกไปในนาทีสุดท้าย ในทีสุด เผ่า ต้องเดินทางไปหัวหิน เข้าเฝ้า "กราบบังคมทูล" ให้ทรงเสด็จให้ได้ ในที่สุด ก็ทรงเสด็จ และรัฐบาลก็ประกาศ ว่า พิธีจะมีตามเดิม (วงการทูตฝรังในกรุงเทพตอนนั้น มีการพูดถึงการประกาศเลือนแล้ว ไม่เลื่อน นี้ กันมาก)

หลังพระราชพิธี "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" ผ่านไป ได้ประมาณสัปดาห์เศษ ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก คือ ในพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ปกติ ในหลวงจะเสด็จมาทรงเปิดด้วยพระองค์เอง (หากอยู่ในประเทศ) ก็ไม่มีการเสด็จ ทีสำคัญ เป็นที่ "ฮือฮา" มากคือ ปกติ หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเสด็จ และทรงมอบให้ผู้อื่นทำพิธีเปิดแทนพระองค์ ก็จะมี "พระราชดำรัส" เปิดสมัยประชุมสภา พระราชทานมาให้อ่านในพิธี (สมัยนั้น พระราชดำรัส เช่นนี้ รัฐบาล เป็นผู้ร่าง แล้วส่งให้ราชสำนักดู)

แต่ปรากฏว่า ในพิธีเปิดจริง จอมพล ป กลับเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิด ในนามของ จอมพล ป เอง (ไมใช่มีการอ่านพระราชดำรัสเปิด ตามปกติ)

ในปริบทเช่นนี้เอง ก็มีการปล่อยข่าวลือในพระนครว่า ในหลวงทรงถูกจับ ซึ่งผมเข้าใจว่า เป็นการปล่อยข่าวมาจากทางพวก "นิยมเจ้า" (ในประวัติศาสตร์กาเรมืองไทย การปล่อย "ข่าวลือ" ทางการเมือง เป็นฝีมือพวก "นิยมเจ้า" เกือบทั้งนัน เช่น ข่าวลือเรื่อง ร.8 ถูกลอบยิงจากด้านหลังพระเศียร หรือ ข่าวลือ ก่อน 14 ตุลา เรื่อง ประภาส ขัดแย้งกับในหลวง-พระราชินีหรือ ณรงค์ ประกาศจะตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในระหว่างไปปราบคอมมิวนิสต์ที่่หินร่องก้า เป็นต้น)

จนรัฐบาลจอมพล ป ร้อนตัว ต้องออกมาเป็นแถลงการณ์ ดังที่ผมนำข้อความมาให้ดูนี


โพสต์การ์ด ที่ ในหลวงอานันท์ ส่งจากการาจี ให้ แมรีรีน เฟอรารี่

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Friday, June 1, 2012 at 7:42pm




จากโพสต์เรื่อง คุณ "แมรีรีน เฟอรารี่" ที่ ครูเกอร์ คนเขียน "กงจักรปีศาจ" กล่าวว่า เป็นเพื่อนสาว (girlfriend) ของในหลวงอานันท์นั้น
ดูท่าทาง หลายท่านอาจจะยังไม่เคยเห็นจริงๆ (ผมนึกว่า ป่านนี้ "กงจักรปีศาจ" น่าจะแพร่หลายไปไม่น้อยแล้ว) ดังที่ผมเขียนในโพสต์นั้นว่า ครูเกอร์ได้แสดงภาพโพสต์การ์ด ที่ในหลวงอานันท์ส่งให้คุณเฟอรารี่ ในระหว่างที่เสด็จกลับประเทศไทยในปลายปี 2488 (คราวที่จะมาสวรรคต) โดยทรงส่งจากการาจี อินเดีย ระหว่างทางเสด็จผ่าน ข้างล่างนี้ ผมเอารูปโพสต์การ์ดดังกล่าวจาก Devil's Discus (กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งภาพจะชัดกว่าภาษาไทยมาก) มาให้ดู ข้อความในโพสต์การ์ด ผมแปลให้ดูข้างล่างจาก "กงจักรปีศาจ" ภาษาอังกฤษ (ในหลวงอานัท์ ทรงเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส) พร้อมคำอธิบายบางอย่างตามที่ ครูเกอร์ เขียนไว้ใน "กงจักรปีศาจ" (ในคำแปลของผม ตัวเอน คือข้อความของในหลวงอานันท์ ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม เป็นของผม ผมทำตัวหนาตรงคำว่า "ฉันท์เพื่อน" - ดูคำอธิบายข้างล่าง)


การาจี, 3 ธค. [2488]
6 โมงเช้า


โพสต์การ์ดสวยมาก [หมายถึงโพสต์การ์ดที่ เฟอรารี่ ส่งให้ในหลวงอานันท์ ไม่ใช่ที่่ในหลวงอานันท์กำลังเขียนอยู่นี้ - สมศักดิ์] แต่เราไม่ได้จะไปบอมเบย์. เมื่อวาน เราบินผ่านอ่าวเปอร์เซีย แต่ดินแดนชายฝั่งที่เห็นก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่มีพืช ไม่มีคนอาศัย. เรากำลังจะไปกัลกัตต้าอีก, บางทีอาจจะผ่านเดลลีด้วย. ฉันหวังว่าเธอจะสบายดีและดูแลสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆให้ดี [numerous objects ไม่แน่ใจว่า อาจจะหมายถึงสิ่งของทั่วๆไปก็ได้ หรือหมายถึงบรรดาของที่ระลึกทีเคยทรงให้ไว้ก็ได้ - สมศักดิ์] ขยันๆนะ และขอได้รับความคิดฉันท์เพื่อน จากฉัน

T.C.

ในโพสต์การ์ดนี้ ในหลวงอานันท์ลงชื่อพระองค์เองว่า "T.C." ตามที่ครูเกอร์เล่า นี่เป็น "ชื่อเล่น" ของพระองค์ (อย่างน้อยในความสัมพันธ์กับเฟอรารี่ ไม่แน่ใจว่า ในระหว่างอยู่สวิสโดยทั่วไปด้วยหรือไม่) เอามาจากชื่อตัวละครในนิทานกล่อมเด็กของสวิส ที่ชื่อ "พีโก้" หรือ Bicot แล้วสะกดย่อ แบบย้อนหลัง ตัว T กับ C ส่วนเฟอรารี่ น้ันมีชื่อเล่นว่า "แมรี่ลู" หรือ Mariloo เวลาในหลวงอานันท์กับเฟอรารี่ส่งข้อความถึงกัน ก็จะใช้สะกดชื่อ เฟอรารี่ ว่า OOLIRAM (อ่านว่า "อูลีแรม) ซึ่งเป็นการสะกดย้อนหลังชื่อเล่น "แมรี่ลู" นี้ ตามที่ครูเกอร์เล่า เฟอรารี่ เคยส่งโทรเลขจากสวิสถึงในหลวงอานันท์ ตอนในหลวงอานันท์อยู่เมืองไทยแล้ว เพือ่บอกว่า เธอสอบไล่ได้ แล้วก็ลงท้ายว่า "อูลีแรม" ด้วย (วิชากฎหมาย เป็นการสอบครั้งที่สอง ครั้งแรกเธอสอบไม่ได้ ในหลวงอานันท์ ทรงช่วย "ติว" ให้สำหรับสอบใหม่ ก่อนเสด็จกลับไทย)

ในโพสการ์ด เหนือคำว่า "ฉันท์เพื่อน" (ที่ผมทำตัวหนา) ในหลวงอานันท์ ส่งใส่เครื่องหมาย "จูบ" (คล้ายๆกากะบาต ในรูป) ซึ่งก็หมายถึงว่า คำว่า friendly thought นั้น หาใช่แค่ "ความคิดอย่างเพื่อน" ธรรมดาแต่อย่างใด (คือ มากกว่า "เพื่อน" นั่นเอง)

ครูเกอร์ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้่งคู่ไว้ในหน้า 233-238 ใน "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาอังกฤษ หรือในหน้า 597-608 ในฉบับภาษาไทย (และมีพูดแบบเป็นนัยๆ ที่หน้า 71 ในภาษาอังกฤษ หน้า 207 ภาษาไทย - ดูคำอธิบาย ย่อหน้าถัดไป)

ในบทความของผมเกี่ยวกับ "กงจักรปีศาจ" (รวมพิมพ์อยู่ใน "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" หรือ ดูได้ที่บล้อกผม ทีนี่ http://somsakwork.blogspot.com/2008/06/blog-post.html ) ผมได้ชี้ให้เห็นว่า คำแปลภาษาไทย "กงจักรปีศาจ" ของคุณ ชลิต ชัยสิทธิเวช มีผิดหลายตอนมาก บางตอนก็ค่อนข้างสำคัญมากด้วย (ผมยกตัวอย่างไว้ในบทความผม) ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ในหลวงอานันท์ กับ เฟอรารี่ นี้ ก็มีประโยคหนึ่ง ที่แปลผิด คือ ในต้นฉบับ หน้า 71 ครูเกอร์ เล่าว่า ในวันที่ในหลวงอานันท์ขึ้นเครื่องบินออกจากสวิสเซอร์แลนด์เพื่อกลับไทยนั้น ทรงแอบหลบพวกนักข่าวที่ล้อมรอบอยู่ ไปโทรศัพท์หาเฟอรารี่ (ครูเกอร์ ใช้คำว่า "เพื่อนนักเรียน" ในตอนนี้ ซึ่งเพิ่งอยู่หน้า 71 ของหนังสือเท่านั้น เมื่อมาเล่าความสัมพันธ์ระหว่างเฟอรารี่ กับในหลวงอานันท์ ในตอนท้ายหนังสือ จึงค่อย "เฉลย" (หน้า 236 ภาษาอังกฤษ หน้า 604 ฉบับภาษาไทย) ว่า "เพื่อนนักเรียน" ที่ในหลวงอานันท์แอบหลบนักข่าวไปโทรหาก่อนเครื่องบินออกคือ เฟอรารี่ นั่นเอง) ครูเกอร์เขียนเรืองโทรศัพท์จากสนามบินนี้ว่า (วันนั้น ความจริงทรงโทรถึงเฟอรารี่ 2 ครั้ง นี่เป็นครั้งหนึ่งก่อนเครื่องบินออก อีกครั้งก่อนหน้านั้น)

“With journalists swarming about he had time but to say au revoir. He told no one of the call.” 

ซึ่งชลิตแปลว่า (หน้า 207 ในฉบับภาษาไทย)

“พระองค์ทรงมีเวลาที่จะรับสั่งกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ซึ่งมาห้อมล้อมพระองค์อยู่ว่า 'ลาก่อน' แต่พระองค์มิได้ทรงรับสั่งถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์กับใคร”

แต่ความจริง ควรจะแปลว่า

“ด้วยเหตุที่มีนักหนังสือพิมพ์คอยห้อมล้อมเต็มไปหมด, พระองค์จึงทรงมีเวลารับสั่งต่อพระสหายผู้นั้นเพียงว่า 'ลาก่อน' พระองค์มิได้ทรงบอกใครถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์นั้น”

(ในหน้าเดียวกันนั้น ยังมีประโยคที่แปลผิดอีกหลายประโยค)



ปล. โปรดอย่าลืมที่ผมย้ำไว้ในโพสต์ที่แล้วว่า ทฤษฎีเรื่องในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย ที่ "กงจักรปีศาจ" เสนอ โดยอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างในหลวงอานันท์กับเฟอรารี่นี้ ผมเห็นว่า เป็นทฤษฎีที่ผิดนะครับ ดังที่ผมอธิบายยืดยาวในบทความเรื่อง "ปริศนากรณีสวรรคต" ด้วยตำแหน่งของกระสุน (เหนือคิ้วซ้ายเล็กน้อย ทรงถนัดขวา ไมใช่ซ้าย) ด้วยวิถีกระสุน (บนลงล่าง เฉียงจากซ้ายมาขวา เล็กน้อย) และด้วยท่าทางพระบรมศพ (นอนสงบปรกติ แขนแนบตัว) ในหลวงอานันท์ ไม่สามารถยิงพระองค์เอง ไมว่าจะโดยไม่ตั้งใจ ("อุบัติเหตุ") หรือ โดยตั้งใจ ("ห่าตัวตาย") เด็ดขาด พูดง่ายๆคือ ต้องโดนคนอื่นยิงแน่ แต่เป็นใครนั้น . . . .

การยังไม่ให้ความสำคัญกับพระราชดำรัส 4 ธันวา: 2522, 2523, 2524

May 21, 2012





Timeline Photos



ผมกำลังทำ กระทู้/บทความสั้นๆ อันใหม่ เกี่ยวกับการ "นำเสนอภาพ" (representation) ในหลวง ในอดีตกับปัจจุบัน (เป็นส่วนหนึ่งของ "ซีรีส์" The Rise of King Bhumibol)

อันนี้ เอามาให้ดูเล่นๆ เป็น "ตัวอย่าง" อันหนึงก่อน

นี่คือภาพ หน้า 1 นสพ.มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2522, 2523 และ 2524 (เรียงตามลำดับ จากซ้ายไปขวา)

ขอให้สังเกตว่า "พาดหัวตัวใหญ่" ไมใช่ข่าวเกียวกับในหลวงหรือวันเฉลิมพระชนม์พรรษา แต่อย่างใด ไม่เหมือนปัจจุบัน ที่ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม จะต้องเอาข่าวในหลวง หรือวันเฉลิมฯ เป็น "ข่าวใหญ่" เสมอ

ปี 2522 ไม่มีพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม แต่ปี 2523 และ 2524 มี (เช็คดูได้จาก pdf หนังสือ "ประมวลพระราดำรัส" ที่ผมให้ link ไว้ในกระทู้ข้างล่าง) แต่จะเห็นว่า หน้า 1 มติชน ฉบับปี 2523 และ 2524 ก็ไม่ได้นำเอา พระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม มาพาดหัวเลยเหมือนกัน (ไม่เหมือนสมัยหลัง)

พาดหัวปี 2523 ที่พูดเรื่อง "หวั่นชาติล่มจม..." ที่เห็น ก็ไมใช่มจากพระราชดำรัส หรืออะไรนะครับ เป็นข่าวเกียวกับนโยบายประหยัดของรัฐบาลขณะนั้น


..............

อันที่จริง เท่าทีผมกำลังค้นคว้าอยู่ แต่ยังไม่สมบูรณ์ ผมมีสมมุติฐานว่า การ "ให้ความสำคัญ" กับพระราชดำรัส นี่ อาจจะมี "ที่มา" หรือ "จุดเริ่มต้น" จาก นสพ. ที่เรียกว่า มีลักษณะ "ชนช้นกลาง" หน่อย อย่าง มติชน หรือ มาตุภูมิ (ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์) ในช่วงน้้น (คือไม่ใช่มาจาก นสพ. "ชาวบ้านๆ" อย่าง ไทยรัฐ หรือ เดลินิวส์) ซึงผมคิดว่า เรืองนี้มีนัยยะสำคัญอยู่ในแง่ของการ shift (เปลี่ยน) ในแง่ "ฐาน" ของสถาบันกษัตริย์ ทีสำคัญ ที่เคลือนย้าย มาที่ "ชนชั้นกลาง" ในเมือง มากขึ้น จนพัฒนามาเป็นสภาพที่เห็นในปัจจุบัน - แต่เรื่องนี้ ผมต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้ามากกว่านี้

เพียงแต่ที่เห็นในปี 2522-2524 นี้ ภาวะนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ปีต่อๆมา จึงจะมีให้เห็นมากขึ้น