ในรายการ "ชูพงษ์ เปลี่ยนระบอบ" ไม่กี่วันก่อน คุณชูพงษ์ ได้พูดถึงข้อมูลที่ได้มาเรื่อง "สาเหตุแท้จริง" ของการมรณภาพของหลวงตาบัว (เรื่องการ "อุ้ม" บางคน ทำให้หลวงตาช็อค อะไรทำนองนั้น) ผมยอมรับว่า ออกจะสงสัย (skeptical) ไม่น้อยว่าเป็นไปได้หรือ แม้ว่าดูเหมือน "บางคน" ที่คุณชูพงษ์พูดถึง จะ "หายหน้าหายตาไป" ในช่วงหลังๆ (แต่เรื่องนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจ เพราะหลังๆดูทีวีน้อย)
พูดถึงหลวงตาบัว และฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ผมมี นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นฉบับที่ "แปลก" พอสมควร คือตีพิมพ์พาดหัวตัวยักษ์ เกี่ยวกับการหย่าของพระองค์ (จากการสมรสกับคุณวีรยุทธ ดิษยศรินทร์) ไทยรัฐ ไม่ได้สัมภาษณ์เอง แต่เอามาจากรายการชื่อ "นัมเบอร์วัน" (เลิกไปนานแล้ว) ที่ดำเนินรายการโดย "แซม" ยุรนันท์ ภมรมนตรี ยุรนันท์ เป็นคนสัมภาษณ์ ไทยรัฐ ตีพิมพ์ถอดเทปแบบคำต่อคำ การสัมภาษณ์ของรายการ แล้วรายงานข่าว ตั้งแต่ตอนเช้า ก่อนที่รายการนี้จะออกอากาศในตอนค่ำวันนั้น (ความจริง ถ้าจำไม่ผิด ไทยรัฐ ฉบับนี้ เป็น "กรอบบ่าย" คือออกมาตั้งแต่บ่ายวันที่ 10) ไม่มีฉบับใดรายงานเรื่องนี้เลย ไทยรัฐ ได้ "เอ๊กคลูซีฟ พรีวิว" คือได้ดูรายการนี้ก่อนออกอากาศ ตอนถ่ายอัดเทป แล้วก็เอามารายงานล่วงหน้า
ความน่าสนใจ นอกจากเป็นเรื่องแปลก ที่ ไทยรัฐ พาดหัว และรายงานการสัมภาษณ์นี้โดยละเอียดแบบคำต่อคำแล้ว ปรากฏว่า คืนนั้น (11 ตุลาคม 2539) เมื่อรายการนี้ ออกอากาศจริงๆ มีการ "เซนเซอร์" ส่วนที่ฟ้าหญิงทรงให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับการหย่าออกหมด (ดูข้างล่างว่า ทรงให้สัมภาษณ์อย่างไร) พูดอีกอย่างคือ ถ้าใครไม่ได้อ่าน ไทยรัฐ ฉบับนี้ ได้ดูแต่รายการ "นัมเบอร์วัน" ที่ออกอากาศในค่ำนั้น ก็จะไม่รู้ว่า ทรงพูดถึงการหย่าด้วยเลย
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้ทรงเล่าความเป็นมาของการที่ได้ทรงสนิทกับหลวงตาบัว ด้วย (ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความทุกข์-ความเหงา" ของพระองค์)
นี่คือส่วนทีทรงเล่าถึง "ความทุกข์-ความเหงา" ที่นำไปสู่การสนิทกับ หลวงตาบัว เป็นภาพที่ต่อติดกันเลยนะครับ แต่ระบบไม่อนุญาตให้ upload ภาพที่มีความสูงมากไป ต้อง "หั่น" เป็น 2 ท่อน
ต่อไปนี้ คือส่วนที่ ทรงเล่าถึงการหย่า และสาเหตุ (ขอย้ำว่า ที่ทรงกล่าวถึง คุณวีรยุทธ น้้น แน่นอนว่า เป็นเพียงข้อกล่าวหาของพระองค์เท่านั้น) นี่คือส่วนที เมื่อรายการ "นัมเบอร์วัน" ได้รับการออกอากาศในคืนวันนั้น ถูก "เซ็นเซอร์" ออกหมด
ส่วนข้างล่างนี้ คือ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 ที่รายงานการหย่าระหว่าง "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์" กับนายปีเตอร์ เจนเซ่น (ถ้าจำไม่ผิด ไม่มี นสพ.ฉบับอื่นรายงานเรื่องนี้) เช่นเดียวกับแทบทุกเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ไทย เรื่องที่มีลักษณะส่วนตัว ไม่เคยเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" ที่ปราศจากมิติการเมือง. พอล แฮนด์ลีย์ เขียนถึง "a hushed-up scandal over a California gold-mine investment by Ubolrat and her husband, which apparently involved others in the royal family and was supported by a highly unusual $1.9 million loan from Siam Commercial Bank" (The King Never Smiles, p.310 และดูเชิงอรรถหมายเลข 20 ที่อธิบายข้อความนี้ ที่หน้า 468) เรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่ผมแปลกใจเหมือนกันที่ แฮนด์ลีย์ ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลเกียวกับราชวงศ์ในลักษณะเรื่องเล่าซุบซิบอย่างมากมายเหลือเชื่อ ไม่ได้กล่าวถึง คือในช่วงเดียวกันที่เกิด scandal ที่เขากล่าวถึงนี้ ก็มีกรณีในไทยที่ "ดัง" มากๆ คือเรื่อง "แชร์ ชม้อย" เรื่อง "ชม้อย" นี้มาเกี่ยวกับ "ปีเตอร์ เจนเซ่น" ตรงที่ว่า เมื่อชม้อยถูกจับ ก็ได้อ้างชื่อผู้ร่วมมือ (หรือคนที่ใหญ่กว่าเธอในแชร์ชม้อย) ว่า ชื่อ "ป.จ." ต่อมาก็บอกว่าคือ "ประสิทธิ์ จิตต์ที่พึ่ง" ชื่อนี้ดูเหมือนเป็นชื่อคนที่มีตัวตนจริงๆ เป็นคนทำงานที่องค์การเชื้อเพลิงทีเดียวกับเธอ แต่ที่ผมได้ยินเรื่องประเภท "ข่าวลือ" ในตอนนั้นคือ "ป.จ." ที่อยู่เบื้องหลังแชร์ชม้อยนั้น หาใช่ "ประสิทธิ์ จิตต์ที่พึ่ง" ที่ทำงานที่เดียวกับชม้อยแต่อย่างใด แต่คือคนทีมีชื่อย่อ "ป.จ" อีกคนหนึ่ง - "ปีเตอร์ เจนเซ่น" เรื่องนี้ ผมไม่สามารถยืนยันได้ และท่านใดที่มีข้อมูลเพิ่มเติม พอจะบอกกันได้ ก็จะขอบคุณมาก "แชร์ชม้อย" ถูกตัดสินไปแล้ว (ดูที่นี่ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2 ) แต่ที่แปลกคือ ทำไมคนธรรมดาๆอย่างชม้อย (หรือ ประสิทธิ์ ที่ทำงานที่องค์การเชื้อเพลิงด้วยกัน) จึงมี "ความสามารถ" ในระดับที่ในที่สุด สามารถหลอกลวงคน (ผู้เสียหาย) จำนวนถึง 13,248 คน เป็นเงินถึง 4 พันกว่าล้านบาท (4,043,997,795)
ที่น่าสนใจคือ ในตอนที่ชม้อยถูกจับปี 2528 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้เขียนบทความเรื่องหนึ่ง และพาดพิงถึง "ประสิทธิ์ จิตต์ที่พึ่ง" ดังนี้ (ขอให้สังเกตส่วนที่ผมทำตัวหนา เป็นพิเศษ)
ใครคือประสิทธิ์ จิตที่พึ่ง และมีจริงหรือไม่? คำตอบนี้ก็คงจะต้องบอกว่าชื่อนี้มีจริง แต่เป็นอีกชื่อหนึ่ง ส่วนจะเป็นใครนั้นก็คงต้องให้เงื่อนไขของเวลาและเงื่อนไขของสังคมเป็นเครื่องตัดสิน
ผมคิดว่า ที่ สนธิ เขียน นี้ หมายความว่า "ประสิทธิ์ จิตต์ทีพึ่ง" มีจริง "แต่เป็นอีกชื่อหนึ่ง" คืออีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ชื่อประสิทธิ์ประโยคที่ตามมาเรื่อง "เงื่อนไขเวลาและเงื่อนไขของสังคม" ก็ชวนให้คิดว่า "ข่าวลือ" ที่ผมได้ยินมา ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ผมได้ยินคนเดียว ระดับสนธิและคนทำข่าวที่ ผู้จัดการ ก็ได้ยินมาเหมือนกัน (อภิชาติ ชอบชื่นชม ผู้เขียนบทความร่วมกับสนธิ ผมรู้จัก เขามีชื่อเล่นว่า "โต้ง" มีบทบาทสำคัญในช่วง 6 ตุลา เพราะเป็นตัวแทนจากจุฬา ที่อยู่ในแกนนำเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น ที่เรียกกันว่า "แกนม่วงเหลือง" - หมอมิ้ง, อ้วน (ภูมิธรรม), ธงชัย, ผม ล้วนอยู่ในกลุ่มแกนนำนี้ "พี่มิ้ง" ทำหน้าที่เป็น "เลขา" หรือ "ผู้ประสานงาน" "โต้ง" ติดคุกตอน 6 ตุลาอยู่กับผม จนถึงกลุ่มสุดท้าย (ประมาณ 25 คน) แต่ได้รับการปล่อยไป เหลือฟ้องพวกผม 18 คน เขาเข้าป่าไป เมื่อออกมา ก็มาทำงานที่ ผู้จัดการ น่าเสียดายที่เขาถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุไม่มาก (ช่วงทศวรรษ 2530)
ไหนๆ ก็ให้ดูหนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่องการ "หย่า" ของราชวงศ์แล้ว ขอแถมให้ดูอีกฉบับ คิดว่า ทุกคนคงทราบแล้วว่าข่าวนี้หมายถึงอะไร นี่เป็น สยามโพสต์ ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2539