Friday, June 21, 2013

"เรื่องเล่า" จากแวดวงราชสำนัก (2): ความเป็นมาของเพลง "ความฝันอันสูงสุด"

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Thursday, March 10, 2011 at 9:19am




ผมสงสัยว่า ทุกแวดวงคงมี "เรื่องเล่า" (story, narrative) ความแตกต่างระหว่าง "เรื่องเลา" จากแวดวงราชสำนัก กับแวดวงอื่นๆ คือ เรื่องเล่าจากแวดวงราชสำนักได้กลายเป็น่ส่วนหนึ่งระบอบการเมืองและวัฒนธรรมที่กดขี่และบังคับครอบงำ โดยมีกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้แสดงความเห็นที่แตกต่าง และระบบการศึกษาอบรมและการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวตลอดวัน ที่ "โปรแกรม" สมองให้คิดตามตั้งแต่เด็กๆ ผลก็คือ "เรื่องเล่่า" จากแวดวงราชสำนัก ได้กลายเป็นสิ่งที่โต้แย้ง วิพากษ์ หรือประณาม ไม่ได้ นอกเสียจากจะยอมเสี่ยงต่อการถูกเล่นงานทางกฎหมาย หรือการกดดันปิดกั้นทางสังคมอย่างรุนแรง

หนึ่งในบรรดาแง่มุมเกี่ยวกับราชสำนักที่เต็มไปด้วย "เรื่องเล่า" คือ เพลงพระราชนิพนธ์

สิ่งแรกที่คนรุ่นนี้ ไม่ตระหนักคือ เมื่อมีการเริ่มใช้ เพลงพระราชนิพนธ์ เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว สรรเสริญเกียรติสถาบันกษัตริย์ ในยุคสฤษดิ์-ถนอม และในเวลาต่อมานับสิบๆปี (น่าจะถึงประมาณทศวรรษ 2530) เพลงพระราชนิพนธ์ ถูกนำเสนอในฐานะผลงานพระราชนิพนธ์ของในหลวงหรือพระราชินี ล้วนๆ คือ ถูกนำเสนอว่า เป็นสิ่งที่ทรงประพันธ์ขึ้น ทั้งเนื้อร้องและทำนอง (เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆที่โตขึ้นมาในยุคนั้น ผมก็เข้าใจแบบนี้อยู่นานมาก)

ตัวอย่างการ "เล่าเรื่อง" ความเป็นมาของเพลงพระราชนิพนธ์ "ความฝันอันสูงสุด" ข้างล่างนี้ ยืนยันสิ่งที่ผมเพิ่งพูดไป 

นี่เป็นรายงานข่าวจาก ไทยรัฐ ฉบับวันเฉลิมพรรษาพระราชินีปี 2519 โดยไทยรัฐได้นำบทความของ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการ ตชด. และผู้นำลูกเสือชาวบ้าน มาสรุปประกอบการสัมภาษณ์เจริญฤทธิ์เอง พร้อมกับ พล.ต.ต.สมควร หริกุล ผู้นำลูกเสือชาวบ้านอีกคนหนึ่ง (ใครที่ติดตามเรื่อง 6 ตุลาอย่างใกล้ชิด คงจำได้ว่า คุณสุรินทร์ มาศดิษถ์ ได้เล่าว่า เจริญฤทธิ์ คือคนที่เข้าร่วมประชุม ครม. เช้าวันที่ 6 ตุลา กับชาติชาย ชุณหวัน และร่วมสนับสนุนให้ "ปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก") บทความดังกล่าวเพิ่งตีพิมพ์ในช่วงนั้น (ปี 2519) แต่เล่าการกำเนิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2515

"ทั้งสองพระองค์จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงความฝันอันสูงสุดนี้ขึ้น" นี่คือข้อความในบทความของเจริญฤทธิ์ ที่นำเสนอเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ในฐานะเป็นผลงานพระราชนิพนธ์ของในหลวงและพระราชินี ล้วนๆ และขอให้สังเกตว่า ใน "เรื่องเล่า" ของเจริญฤทธิ์นี้ ไม่มีการเอ่ยถึงการให้ผู้ใดแต่งเนื้อร้องเลย (ไม่เหมือนยุคหลัง)

ประการต่อมาที่ควรสนใจคือ การนำเสนอความเป็นมาของเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ของเจริญฤทธิ์ มีขึ้นในปริบทของความขัดแย้งตึงเครียดที่แหลมคมระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในขณะนั้น กับบรรดากลุ่มพลังฝ่ายขวาต่างๆ (ลูกเสือชาวบ้านเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง) และมีนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจน "บ้านเมืองไทยจะประสบความวุ่นวายยุ่งยากและความมืดมนยิ่งขึ้น อย่างน่ากลัวอันตราย"

ประการสุดท้ายที่ขอให้สังเกตคือ เจริญฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ ไทยรัฐ ว่า เรื่องเล่าความเป็นมาเพลง "ความฝันอันสูงสุุด" ของเขานี้ ได้เคยถวายให้ในหลวงทอดพระเนตร "และโปรดเกล้าฯให้เผยแพร่" ได้

ขอเชิญอ่านรายละเอียดกันเองว่า ใน "เวอร์ชั่น" นี้ เพลง "ความฝันอันสูงสุด" มีความเป็นมาอย่างไร ที่เกี่ยวข้องถึงการที่่พระราชินีทรงพระสุบินถึงพระนเรศวร (ในการเล่าของเจริญฤทธิ์ มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผมอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจ คือตอนที่เล่าถึงพระราชินี "ทรงปลุกพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงปรากฏให้ทรงทอดพระเนครเห็นทั้งสองพระองค์" นั้น หมายความว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นพระนเรศวรจริงๆ หรือว่า ทั้งหมดยังอยู่ใน "พระสุบิน" ของพระราชินี)

ดังที่จะยกมาให้เห็นข้างล่าง นี่ไมใช่ "เวอร์ชั่น" เดียว ของกำเนิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" จากเรื่องเล่าในแวดวงราชสำนัก . . . .

ไทยรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2519


ในยุคหลัง น่าจะเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 2530 การนำเสนอเพลงพระราชนิพนธ์ มีลักษณะที่เรียกว่า (ถ้าใช้คำแบบวรรณกรรมวิจารณ์) realism (สมจริง) ยิ่งขึ้น ก่อนอื่นคือ มีการเปิดเผยว่า แต่ละเพลงใครเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ซึ่งก็ปรากฏว่า เพลงพระราชนิพนธ์ภาษาไทยทั้งหมด ไม่มีเพลงใดที่ในหลวงหรือพระราชินีทรงประพันธ์เนื้อร้องเอง มีเพียงเพลงพระราชนิพนธ์ในภาษาอังกฤษ 5 เพลงเท่านั้น ที่ในหลวงทรงประพันธ์เนื้อร้องด้วย

ในส่วนเพลง "ความฝันอันสูงสุด" นั้น ก็ได้มีการเปิดเผยว่า ผู้ประพันธ์เนื้อร้องคือ ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ ได้เขียนเล่าความเป็นมาของเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ไว้ในหนังสือ  ภิรมย์รัตน์ ที่ตีพิมพ์ในปี 2537 (สำหรับงานวันเกิดครบ 72 ปี น่าจะไม่ค่อยแพร่หลายนัก) ซึ่งต่อมา ก็มีการไปเผยแพร่ซ้ำในหนังสือราชการที่เกียวกับเพลงพระราชนิพนธ์ยุคหลัง นี่คือ ส่วนที่ผมถ่ายมาจากหนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจของปวงชนที่ตีพิมพ์ในปี 2539


จะเห็นว่า "เวอร์ชั่น" ความเป็นมาของ "ความฝันอันสูงสุด" ของท่านผู้หญิงมณีรัตน์นี้ มีลักษณะที่เรียกว่า realism มากขึ้น คือ พระราชินี โปรดเกล้าฯ "ให้เขียนบทกลอน แสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ" เท่านั้น (ไม่ใช่มาจาก "พระสุบินนิมิตร" เหมือนเวอร์ชั่นเจริญฤทธิ์)

แต่ในส่วนที่ท่านผู้หญิงอ้างว่าเป็น "ความบันดาลใจ" ในการเขียนนั้น ที่กล่าวว่า "มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤฒิปฏิบัติ" นั้น ถ้าใครที่พอรู้เรื่องเพลงฝรั่งบ้าง ก็คงอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ เพราะเนื้อเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ที่ท่านผู้หญิงประพันธ์นั้น แทบจะเป็นการแปลแบบประโยคต่อประโยค เนื้อเพลงภาษาอังกฤษที่ชื่อ The Impossible Dreams จากบทละครบรอดเวย์เรื่อง Man of La Mancha เลย (แต่ท่านผู้หญิง ดูเหมือนจะได้เอ่ยถึงไว้เลย ที่แน่ๆ หนังสือราชการเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเล่ม ที่ผมเคยเห็น ก็ไม่มีเอ่ยถึงความ "เหมือนกัน" ระหว่างเพลง "ความฝันอันสูงสุด" กับ The Impossible Dreams เลย) ตัวอย่างเปรียบเทียบ:

To dream the impossible dream                      
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
To fight the unbeatable foe
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
To bear the unbearable sorrow                      
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
To run where the brave dare not go...
ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง...

And the world will be better for this                 
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
That one man scorned and covered with scars
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
Still strove with his last ounce of courage....
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ....

ไม่น่าแปลกใจที่มี "ผู้จงรักภักดี" ไม่น้อย เกิดความสับสนว่าเพลง "ความฝันอันสูงสุด" มีความเป็นมาอย่างไรกันแน่ ดูตัวอย่างที่นี่
(ขอให้สังเกต "ความเห็นที่ 2" ของ "มหา มศว" ที่อย่างน้อยยังตระหนักถึงความเหมือนกันกับเพลง The Impossible Dreams แต่เวอร์ชั่นที่เขาเล่านั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาจากไหน และเป็นคนละเรื่องกับทั้งเวอร์ชั่นของเจริญฤทธิ์และท่านผู้หญิงมณีรัตน์)

...........................



ผู้สนใจประวัติ ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค ดูที่นี่
และที่นี่

ผู้สนใจเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์กับการเมือง ดูบทความ "เราสู้" ของผมได้ที่นี่


...........................

"เรื่องเล่า" จากแวดวงราชสำนัก (1): ทำไม ในหลวง ไม่ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ จำเลยคดีสวรรคต