Friday, June 21, 2013

ปัญหาบางประการอันเนื่องมาจากการอภิปรายของธงชัยเรื่อง "ฝ่ายเจ้า" และ Elephant in the Room

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Monday, February 21, 2011 at 9:30am






ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูคลิปส่วนที่ธงชัยพูดเรื่อง "ฝ่ายเจ้า" และ "Elephant in the Room" ที่นี่http://www.youtube.com/watch?v=-pvkjv0kWuw เริ่มที่ประมาณนาทีที่ 7
ก่อนหน้านี้ เพียงแต่อ่านที่ ประชาไท สรุป http://www.prachatai3.info/journal/2011/02/33167 

หลังจากดู-ฟังคลิปจริงแล้วหลายเที่ยว ผมคิดว่ามีปัญหาบางอย่างที่ควรโต้แย้ง ดังนี้


ธงชัยพูดถึงปัญหา Elephant in the Room (การที่ปัญหาใหญ่บางอย่างที่ควรเห็นกันทุกคน กลับได้รับการเพิกเฉย ไม่พูดถึง) โดยเริ่มด้วยการอธิบายประเด็นความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคม และการที่ ระบบการเมือง ไม่ยอมเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างสอดรับกัน แล้วเขาก็กล่าวว่า (นาทีที่ 11.15)

เหตุที่การเมืองไทยไม่ยอมเปลี่ยนตามอย่างดื้อดึง....สาเหตุใหญ่ที่สุด - "ช้างที่อยู่ในห้อง" - ก็คือ เกี่ยวเนื่องกับความหวาดกลัวว่านักการเมืองจะมาเป็น King Maker

ผมยอมรับว่า ฟังหลายเที่ยว ด้วยความงงๆ

เรื่องเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน แต่ระบบการเมืองไม่เปลี่ยน ผมพอจะเข้าใจ แม้จะรู้สึกว่า ถ้านำมาใช้อธิบายประเด็นสถาบันกษัตริย์ อาจจะเป็นการพูดแบบกว้างไป หรือมีปัญหาได้ สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งยังไงกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ว่า? สถาบันกษัตริย์อย่างทีเห็นในป้จจุบัน ไมใช่มีด้านสำคัญที่เปลี่ยนแปลงพัฒนามาคู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ว่าหรือ เช่นการเปลี่ยนมามี "ฐาน" อยู่ทีชนชั้นกลางมากขึ้น เป็นต้น? แต่เรื่องนี้ยังเป็นแค่ว่า อาจจะอธิบายไม่พอ ยังต้องขยายความ

แต่ที่งงมากคือ การที่ธงชัยยก (attribute) เรื่อง King Maker ให้เป็น "สาเหตุใหญ่ที่สุด" ของการที่ "ระบบการเมืองไม่ยอมเปลี่ยน ตามความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคม" ได้ยังไง

เรื่อง King Maker ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม (ธงชัยไม่ได้พูดออกมา แต่ผมว่า คงไม่เป็นการผิดที่ผมจะสรุปออกมาว่า) คือ ปัญหาเรื่องความพันธ์ระหว่างทักษิณกับสมเด็จพระบรมฯ และ (ต่อเนื่องกัน) ปัญหาว่า พระบรมฯจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในลักษณะเช่นใด

ไม่ต้องสงสัยว่า นี่เป็นประเด็นหนึ่ง ในวิกฤตการเมืองในขณะนี้ แต่ถ้าเราวิเคราะห์ลงไปอย่างละเอียดเป็นระบบจริงๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรคาดหวังได้จากธงชัย) ผมเห็นว่านี่ก็เป็นเพียง "อาการ" (คำที่ธงชัยใช้เรียกกรณีขัดแย้งกัมพูชา) หรือ การแสดงออกอย่างหนึ่ง ของปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่านั้นแน่ๆ

เพราะปัญหาในลักษณะที่เรียกว่า King Maker นี้เอง ก็มาจากเรื่อง "โครงสร้าง" เกียวกับ อำนาจและสถานะของสถาบันกษัตริย์โดยรวม พูดอย่างรูปธรรมยิ่งขึ้นคือ ถ้าไม่มีสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีปัญหาทีเรียกว่า King Maker

พูดง่ายๆคือ การยกเอาเรื่อง King Maker ว่าเป็น "สาเหตุใหญ่ที่สุด" ของเรื่องวิกฤติการเมือง ผมว่า เป็นเรื่องที่แคบและตื้นไปอย่างเห็นได้ชัด

จุดอ่อนของการนำเสนอปัญหาในลักษณะนี้ของธงชัย ยิ่งเพิ่มขึ้น จากอีกหลายประโยคที่ธงชัยอภิปรายต่อเนื่องมา ดูข้อความยาวๆตอนนี้ (นาทีที่ 12.46-15.05 และนาทีที่ 17.16  ผมขีดเส้นใต้เน้นคำ)

ปัญหาที่กำลังเป็นปัญหาคอขาดบาดตายสำหรับฝ่ายเจ้า [เน้นเสียงคำว่า "ฝ่ายเจ้า"] เอาเข้าจริง ไมใช่สำหรับประชาชนซักเท่าไหร่เลย กลับมาเป็นเหคุใหญ่ของประเทศไทย ประเทศไทยโชคร้าย ที่ปล่อยให้ปัญหามันหมักหมมสะสมมาจนกระทั่งถึงจุดที่ปัญหาของคนไม่กี่คนฉุดกระชากลากถูทั้งประเทศลงไปได้ นี่คือ "ช้าง" ตัวเบ่อเริ่มเลย ที่เป็นเหตุของหลายๆปัญหา รวมทั้งปัญหากัมพูชาด้วย ...

....ถ้าหากปัญหาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในหมู่ฝ่ายเจ้ากระทบกระเทือนถึงขนาดฉุดรั้งระบบการเมืองทั้งหมดต้อง fix [เน้นเสียง] ปัญหาที่มีอยู่ในฝ่ายเจ้า อย่าให้มายุ่งกระทบกระเทือนระบบการเมืองที่ชาวบ้านทำมาหากินและประชาชนทั่วไปต้องการ มีปัญหาอะไรก็ไปจัดการกันซะ...

ก็ไป fix ซะ ไปจัดการซะ การจัดการยังไงเนี่ย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสังคมไทย หมายความว่ายังไง ... ตราบใด ที่ฝ่ายเจ้า ไม่กระทำการให้กระทบกระเทือนต่อสังคมไทย ท่านจะ fix ยังไงก็เชิญ..

ผมกลับเห็นว่า จริงๆแล้ว ปัญหาพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปเป็นเช่นไรหรือเป็นใคร (ปัญหา King Maker) ไมใช่ "ปัญหา..สำหรับฝ่ายเจ้า" (ที่ควรพูดว่า "ท่านจะ fix ยังไงก็เชิญ") เท่านั้นแน่นอน แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับประชาชนด้วย ตั้งแต่ในแง่พื่นฐานที่สุด เรื่องอำนาจในการกำหนด ของประชาชน ต่อผู้จะดำรงตำแหน่งประมุข ไม่ว่าจะโดยผ่านตัวแทน เช่นรัฐสภา - รัฐธรรมนูญ 2475 ให้อำนาจในการสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ กับรัฐสภา เป็นต้น

เห็นได้ทันทีจากการยกเรื่อง รธน.2475 ว่าเรื่องนี้เป็นมากกว่าเรื่อง "สำหรับฝ่ายเจ้า" แน่ๆ ทีสำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอำนาจและสถานะของสถาบันกษัตริย์โดยรวม ซึงเกี่ยวกับสังคมทั้งสังคม และกับ "ประชาชน" แน่นอน

การที่มีสภาพที่ "ปัญหาของคนไม่กี่คนฉุดกระชากลากถูทั้งประเทศลงไปได้" ก็เพราะมีสภาพเชิงโครงสร้างของสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์แบบนี้ อันที่จริง ประโยคของธงชัยที่ผมเพิ่งอ้าง "ปัญหาของคนไม่กี่คน.." ความจริง ก็ไม่ค่อยดีนัก แม้แต่ในการจะใช้บรรยายปัญหาในหมู่ฝ่ายเจ้าเกี่ยวกับเรื่องทักษิณ-พระบรมฯ หรือ พระบรมฯจะเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไรอยู่แล้ว

ปัญหาสืบราชสันตติวงศ์ที่ รธน.ในขณะนี้ กำหนดให้มีลักษณะที่ คนใน "ฝ่ายเจ้า... fix กันเอง" ได้นั้น ต่อให้ "ไม่กระทบกระเทือนสังคมไทย" (เช่นสมมุติไม่มีปัญหาเรื่องพระบรมฯ ทักษิณ, ประเด็นพระบรมฯจะเป็นกษัตริย์อย่างไร) ก็เป็นปัญหาสำหรับสังคมไทยอยู่ดี ถ้ามองจากจุดยืนประชาธิปไตย - ดูทีผมแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน จากข้อกำหนด รธน. ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ สถานะของ กฎมณเทียรบาล มีลักษณะการให้อำนาจแบบสมบูรณาสิทธิราชแก่สถาบันกษัตริย์อย่างไร  ทีนี่ 

จริงๆ มีอีกบางข้อความที่ผมงง คือ ไม่เข้าใจเลยว่า ธงชัยกำลังพูดถึงอะไรกันแน่ เช่น ช่วงนาที 15.23 เป็นต้นไป (ผมใส่เครื่องหมาย [?] เอง ความจริง ผมแทบจะไม่เข้าใจเลยทุกประโยค ที่ธงชัยพูดข้างล่างนี้ แต่ใส่เฉพะบางจุดที ไม่เข้าใจ มากๆ)

จะ fix ยังไง คนไทยฝันหวานกันเหลือเกินว่า เผื่อจะมีอีกคนนึงแทน ผมฝากให้คิดดีๆนะ คนที่ฝันหวานเหล่านั้น คุณกำลังจะก่อปัญหาใหญ่ไปอีกแบบนะ .... คุณคิดดูดีๆว่า ทำไมการ.. แค่เปลี่ยนคน มันไม่ใช่ง่ายๆนะ เพราะว่า ... คุณกำลัง Open the Pandora's box ในปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติ ถ้าคุณยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ อย่างไม่มีกฏเกณฑ์ แล้วตรงนั้นเนี่ย ผมกลับคิดว่า เราควรจะ .. เห็นอกเห็นใจ [?] คนที่ต้องตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง [?] ว่า เค้าเปลี่ยนง่ายๆไม่ได้ [?] เพราะถ้าคุณ open the Pandora's box ตัวนี้เนี่ย [?] คุณนึกเอาก็แล้วกัน แปลว่าอะไร มันจะกลับย้อนไปปลายอยุธยา [?] เพราะงั้นการที่ยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนนี่ มีเหตุผลอยู่ [?] ผมไม่กล้าบอกนะว่า อะไรดีอะไรไม่ดี บอกได้แค่ว่า มันมีเหตุผลอยู่ และเป็นเหตุผลที่เราควรเข้าใจด้วย [?] ไมใช่สักแต่ว่า [?] จะวิจารณ์ จะตำหนิ จะนินทา อะไร ....

เรื่อง open Pandora's box (หมายถึง การเริ่มทำอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆสารพัดไม่สิ้นสุด ตามมา อย่างคาดไม่ถึง) บอกตรงๆว่า ผมฟังซ้ำไปซ้ามาหลายเที่ยว ก็ไม่เข้าใจว่า ธงชัย มีอะไรอยู่ในใจ หรือต้องการให้หมายถึงอะไร ธงชัยกำลังพูดถึงเรื่องการส่งเสริมคนนั้นคนนี้ เช่น กรณีพระเทพ แทนพระบรมฯ ? หรือ การฝากความหวังกับพระบรมฯ แทนในหลวง ? ไม่ต้องพูดถึงจุดที่ผมทำเครืองหมาย [?] ไว้อีกหลายจุด เช่น "คนที่ต้องตัดสินใจ" หมายถึงใคร? "ตัดสินใจ" เรื่องอะไร?! การ "สักแต่ว่าจะวิจารณ์ จะตำหนิ" หมายถึงอะไร? หมายถึงคนที่เรียกร้องเรื่องให้เปิดประเด็นสถาบันกษัตริย์? หมายถึงคนที่วิจารณ์ว่า กระบวนการทั้งหมดเรื่องการสืบสันตติวงศ์ เป็นเรื่องขัดประชาธิปไตย? หรืออะไรกันแน่? ฯลฯ ฯลฯ

แล้วหลังจากข้อความที่สับสนไม่ชัดเจนมากๆข้างต้นนี้แล้ว ธงชัย ก็มาลงเอยที่เรื่อง "ทางออก" ซึ่งธงชัยเสนอว่า "ผมเห็นว่าไม่มีทางออกอื่น นอกจากฝ่ายเจ้าต้องประนีประนอม" ที่ไม่ too little, too late (น้อยเกินไป ช้าเกินไป) ซึงฟังดูก็นับว่าดี ผมเห็นด้วยกับประโยคที่ยกมา (เพราะประโยคอื่นไม่เข้าใจ) เพียงแต่งง ไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่อง "ต้องประนีประนอม" นี้ เข้ากับเรื่องที่ธงชัย "อธิบาย" ว่าเป็นปัญหา ข้างต้นได้อย่างไร

ธงชัยยกตัวอย่างการ "ประนีประนอม" ที่ฝายเจ้าควรทำ เช่น เรื่องปล่อยผู้นำเสื้อแดง ถึง ดา ตอร์ปิโด แต่สรุป "ฟันธง" เสนอเรื่องเดียว คือ ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเขาเสนอว่าเป็น "กุญแจที่จะไขไปสู่การประนีประนอม" ซึ่งผมนอกจากเห็นด้วยแล้ว ยังเห็นว่า ดี ในแง่ที่ครั้งนี้ ธงชัย เสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไกลกว่าครั้งก่อนที่เป็นข่าวใหญ่โต (ที่ร่วมกับ นอม ชอมสกี้ ฯลฯ ลงชื่อ คราวนั้น เรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายนี้เท่านั้น ไมได้เสนอให้เลิก) แต่เฉพาะเรื่องกฎหมายหมิ่นฯนี้ ผมยังยืนยันว่า ในปริบทของสังคมและประวัติศาสตร์ไทย แค่เสนอให้เลิกกฎหมายหมิ่นฯ ไม่เพียงพอ ในทางกฎหมาย เช่น ดูคำพิพากษาคดีหมิ่นฯต่างๆ กฎหมายนี้ ล้วนผูกติดอยู่กับรัฐธรรมนูญ มาตราที่ว่าด้วย "องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักกาะ..." และผูกติดในทางปฏิบัติที่อาจจะไม่มีกฎหมายรองรับตรงๆจำนวนมาก เช่น ระบอบการอบรมบ่มเพาะในโรงเรียน ระบอบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวต่างๆ  ซึงทั้งหมดนี้ ผมเห็นว่า ต้องเสนอให้เลิกไปพร้อมๆกัน



โดยรวมแล้ว ผมเห็นว่า การพูดเรือ่ง "ฝ่ายเจ้า" และ Elephant in the Room ของธงชัยครั้งนี้ ถ้าฟังอย่างละเอียด และพยายามคิดตามอย่างเป็นระบบแล้ว เป็นการพูดทีสับสนและไม่ชัดเจนเอามากๆ

ผมยังนึกขำๆในใจอยูว่า การพูดบางตอนของธงชัยนี้ เป็น "ตัวอย่าง" อย่างดีในด้านกลับ ทีสนับสนุนสิ่งที่ผมเสนอมานานแล้วว่า เรือ่งสถาบันกษัตริย์นั้น ควรพยายามอภิปรายแบบตรงไปตรงมามากกว่า ไม่งั้น ไม่เพียงแต่ไม่รู้เรื่องว่า กำลังพูดถึงอะไรเท่านั้น ยังเสี่ยงต่อการนำเสนออะไรที่ น่าจะไม่ถูกต้องจากจุดยืนประชาธิปไตยด้วย




ในตอนต้น ที่เริ่มพูดเรืองนี้ ธงชัยกล่าวว่า (นาทีที่ 7.39) "ผมไม่ค่อยอยากจะพูดเท่าไร เร็วๆนี้ถ้าอยากจะพูด ก็อาจจะพูดเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งฟังก็ว่าไป" (ธงชัย อาจจะกำลังหมายถึง งานที่เขากับ คริส เบเกอร์ จะไปพูดสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในวันที่ 22 เดือนนี้ ดูรายละเอียดที่นี่ http://www.prachatai3.info/activity/2011/02/33158 )

บอกตรงๆว่า ผมออกจะแปลกใจ และผิดหวังไม่น้อย เรืองสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร ธงชัยรู้ดี (แม้ที่อธิบายข้างต้น ออกจะสับสน ไม่ชัดเจน) ผมคิดว่า ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ "สังคมไทย" ที่คนส่วนมาก แม้แต่ในหมู่ผู้มีการศึกษาเอง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถฟังและอ่านภาษาอังกฤษได้ มีความต้องการ ให้นักวิชาการ อย่างธงชัย และคนอื่นๆ พูดออกมาในภาษาไทย  มากกว่าเป็นไหนๆ และผมก็นึกว่า นักวิชาการอย่างธงชัย น่าจะ "อยาก" (หรือควรจะ "อยาก") พูดกับคนกลุ่มหลังนี้ มากกว่ากับเฉพาะคนที่ฟังและอ่านภาษาอังกฤษได้เสียอีก