Thursday, June 20, 2013

หลังจากมอเตอร์ไซต์ชนรถพระที่นั่งเพียง 20 ชั่วโมง ก็เกิดระเบิดหน้าที่ประทับ ขณะในหลวงกำลังทำพิธีลูกเสือชาวบ้าน 22 กันยายน 2520

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Tuesday, January 18, 2011 at 4:07am




โพสต์นี้ เป็นการต่อเนื่องจากโพสต์นี้

ความจริง เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2520 ที่พาดหัว "ตร.ขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าจราจร ชนรถพระที่นั่ง ไฟไหม้ทั้งคัน!" นั้น เรียกว่า เป็นการลงข่าว "ช้า" แล้ว เพราะเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ผมไม่แน่ใจว่า เพราะข่าวมาไม่ทัน เพราะเหตุเกิดเวลา 2 ทุ่ม หรือเพราะทางตำรวจขอร้องไว้ไม่ให้ลงทันที (ไมมี นสพ.ฉบับใดของวันที่ 22 กันยายน ลงข่าวเลย) 

ไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม ที่ทำให้เหตุการณ์มอเตอร์ไซค์ของค่ำวันที่ 21 จึงค่อยมาเป็นข่าวเช้าวันที่ 23, ภายใน 20 ชั่วโมงของกรณีดังกล่าว ก็เกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่และสำคัญกว่านั้นอีก คือ ในระหว่างเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ของวันที่ 22 กันยายน 2520 ในขณะที่ในหลวง, พระราชินี และเจ้าฟ้าหญิงทั้ง 2 พระองค์ กำลังทำพิธีมอบธงลูกเสือชาวบ้านและรางวัลให้ครูปอเนาะ ที่จังหวัดยะลา ซึ่งมีผู้มาร่วมงานถึง 3 หมื่นคน ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านคำรายงาน ก็เกิดระเบิดขึ้นติดต่อกัน 2 ครั้ง ในบริเวณที่ลูกเสือชาวบ้านที่มาร่วมงานอยู่กัน (ตำรวจบอกว่า ระเบิดห่างจากที่ประทับราว 50 และ 100 เมตร ตามลำดับ) มีผู้บาดเจ็บ 47 คน ขณะเกิดระเบิดในหลวงทรงกำลังประทับยืนอยู่บนเวทีฟังคำรายงาน (อ่านรายละเอียดได้จากบทความ "เราสู้ หลัง 6 ตุลา" ของผม ที่นี่  http://somsakwork.blogspot.com/2006/10/6.html )

ดังนั้น ตอนที่ เดลินิวส์ พาดหัวอย่างตื่นเต้นเรื่องมอเตอร์ไซค์ ในเช้าวันที่ 23 กันยายน นี้ ความจริงได้เกิดระเบิดขึ้นแล้วในเย็นก่อนหน้านั้น (22) ปรากฏว่า วันเดียวกันนั้น นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 กันยายน กลายเป็นฉบับเดียวที่ลงข่าวเรื่องระเบิดนี้ "ทัน" ในวันต่อมาของการระเบิด แต่ลง ชนิด "เล็ก" สุดขีด คือลงในคอลัมภ์ "ข่าวสุดท้าย" ตรงมุมล่างสุดด้านขวา ของหน้าแรก (ดูรูป ไทยรัฐ ฉบับ 23 กันยายน 2520 ข้างล่างนี้ ต้องเพ่งดีๆครับ ไม่งั้นไม่เห็น เพราะเล็กมากๆ)  และที่ว่า "ลงข่าว" ความจริงก็ไม่ใช่การเสนอข่าว แต่เป็นเพียงการนำเอา "แถลงการณ์ตำราจ" เกี่ยวกับทั้ง 2 เหตุการณ์ มาลง ไม่มีรายงานอะไรเพิ่มเติมเลย

เดลินิวส์ ยังคงเป็นฉบับเดียว ที่ให้ความสำคัญกับข่าวเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับในหลวงทางภาคใต้นี โดยในฉบับวันที่ 24 กันยายน (ดูภาพข้างล่างนี้) แม้ว่า ด้านหนึ่ง เดลินิวส์ จะเลิกพาดหัวตัวโตๆ และยังได้ตีพิมพ์กรอบ "ขอพระราชทานอภัย" (สีเทาด้านซ้ายช่วงกลางหน้า) แต่ก็ตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ตอนชุลมุนเมื่อระเบิดลงไว้ด้วย (เป็นฉบับเดียวที่มีภาพเหตุการณ์นี้ ไทยรัฐ ลงภาพหลังเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่กำลังเคลียร์สถานที่ หามคนเจ็บ) ผมลงให้ดูทั้งเต็มหน้า และตัดเฉพาะส่วนที่มีภาพเหตการณ์ และ "คำขอพระราชทานอภัย"

เดลินิวส์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นี่คือฉบับวันต่อมา 25 กันยายน 2520 ไม่ลงข่าว แต่ลงภาพจากเหตุการณ์อีก (ผมลงให้ดูทั้งเต็มหน้า และตัดเฉพาะส่วนที่มีภาพเหตุการณ์)


กรณีระเบิดหน้าที่ประทับ (และอาจรวมถึงกรณีรถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งด้วย) นี้ มีความเชื่อกันในหมู่ผู้สนใจการเมืองสมัยนั้น - ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงๆ - ว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายทหาร ที่ตั้งแต่หลัง 6 ตุลา ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันและหนุนหลังรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ถึงปลายปี 2520 เริ่มไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ และที่สำคัญมีลักษณะขวาจัดแอนตี้คอมมิวนิสต์อย่างสุดขั้ว จนกระทั่งจะเป็นผลเสียต่อชนชั้นปกครองทั้งหมด และมีแต่จะทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์เติบโตมากขึ้น แต่เนื่องจากรัฐบาลธานินทร์ ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโดยตรง ทำให้ทหารหาทางสร้างสถานการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าใช้วิธี "หนามยอกเอาหนามบ่ง" คือ รัฐบาลธานินทร์เชิดชูสถาบันกษัตริย์อย่างมาก ก็สร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนกับว่าสถาบันกษัตริย์ตกอยู่ในอันตราย และรัฐบาลธานินทร์ ไม่มีความสามารถ หรือ "ไม่จงรักภักดีเพียงพอ" ที่จะปกป้องได้ ซึงถ้าการมองเช่นนี้ตรงกับความจริง ก็นับว่าเป็น "ตลกร้าย" (irony) อย่างแรง

ลักษณะ "ตลกร้าย" ยังไปกว่านั้นคือ ในปลายเดือนนั้น กลุ่ม "กระทิงแดง" ที่เงียบหายไปหลัง 6 ตุลา จู่ๆ ก็ออกมาโจมตีรัฐบาลธานินทร์ ที่เคยเป็นพวกเดียวกันสมัยก่อน 6 ตุลา ภาพข้างล่างนี้ เอามาจาก เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2520

นี่เป็นข่าวเดียวกัน จาก ตะวันสยาม (หนังสือพิมพ์ขวาจัดสมัยนั้นอีกฉบับหนึ่งที่แยกตัวออกมาจาก ดาวสยาม) วันที่ 29 กันยายน 2520

ดาวสยาม เอง ในช่วงแรกที่มีข่าวนี้ กลับไม่ลงข่าวอะไรเลย (ไม่แน่ใจว่าทำไม สงสัยว่า ด้วยความที่เป็นพวกเดียวกับรัฐบาลมาก่อน) แต่พอถึงต้นเดือนต่อมา ดาวสยาม กลับพาดหัวใหญ่โตในลักษณะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ภาพข้างล่างนี้ ต้องถือเป็น double irony ("ตลกร้ายกำลังสอง") คือนอกจากจะเป็นข่าว เรื่องอดีตขวาจัดก่อน 6 ตุลา เล่นงานกันเอง - กระทิงแดง เล่นงาน สมัคร - ตัว นสพ.ที่พาดหัว ก็๋คือ ดาวสยาม ที่เคยเป็นพันธมิตรสำคัญของสมัคร

ดูคำที่ใช้พาดหัวให้ดีๆนะครับ "กระทิงแดงทนหมิ่นกษัตริย์ไม่ได้ แจ้งจับ .... สมัคร"!! สำหรับผมที่เจอกับ ดาวสยามก่อน 6 ตุลา พาดหัวนี้ นับว่าชวนยิ้มจริงๆ (และถ้าใครถือสาเรื่องวัน นี่คือฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2520 คือวันครบรอบ 1 ปี ของกรณี 6 ตุลา - irony ไหมครับ?)


กรณีนี้ในที่สุด รัฐบาลก็ดำเนินการจับกุมคนมุสลิม 4 คน อ้างว่าเป็นสมาชิกขบวนการแยกดินแดน "พูโล" ดูจากพาดหัวดาวสยาม ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2520 ข้างล่างนี้ ขอให้สังเกตด้วยว่า ดาวสยาม ยัง "เล่นข่าว" กระทิงเล่นงานสมัครอยู่ (ขณะที่ฉบับอื่นเลิกลงข่าวแล้ว) ดูพาดหัวมุมขวาบน "กระทิงแดงให้การ ตร. ยันสมัครละเมิดในหลวง..." 

กรณี 4 ผู้ต้องหาคดีระเบิดหน้าที่ประทับที่กล่าวกันว่าเป็น "พูโล" นี้ ในที่สุด คดีจะถูกนำขึ้นศาลและตัดสินว่ามีความผิดจริง (ผมจำไม่ได้ว่าลงโทษจำคุกกี่ปี) แต่ผู้สังเกตุการณ์หลายคนเชื่อว่าเป็นเพียง "แพะ" มากกว่า เพราะ "พูโล" ไม่เคยมีประวัติของการพยายามทำร้ายราชวงศ์มาก่อนหรือหลังจากนั้นเลย ข้างล่างคือ ดาวสยาม วันที่ 12 ตุลาคม 2520 ที่ในพาดหัวอ้างถึง "ม.21" หมายถึง มาตรา 21 ในธรรมนูญปี 2519 ที่ออกมาหลัง 6 ตุลา มีเนือหาเหมือน "ม.17" ในธรรมนูญ 2502 ของสฤษดิ์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการอะไรก็ได้ ถึงขั้นประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงต่างๆ แต่อย่างที่เพิ่งเขียนไป คดีนี้ ในที่สุด มีการนำตัว 4 ผู้ต้องหาขึ้นศาล

อีกประมาณสัปดาห์เดียวหลัง ดาวสยาม ฉบับนี้ คือวันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะทหารภายใต้การนำของ เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (หัวหน้าทางการยังเป็น สงัด ชลออยู่ แต่ผู้นำและประสานงานจริงๆคือเกรียงศักดิ์) ก็ทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลธานินทร์ไป . . . .