Saturday, June 22, 2013

ความตื่นตระหนกในแวดวง ราชสำนักไทย ต่อการถอนฐานทัพสหรัฐ และการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนาม ในกลางปี 2519

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Thursday, May 17, 2012 at 6:33am





ภาพการเดินขบวนขับไล่ฐานทัพสหรัฐของขบวนการนักศึกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2519 ที่ถูก กระทิงแดง ปาระเบิดใส่หน้าสยามสแควร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก




เมื่อเร็วๆนี้ คุณ Andrew MacGregor Marshall ได้ค้นพบและเผยแพร่โทรเลขของสถานทูตสหรัฐในไทยถึงวอชิงตัน ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 เนื้อหาของโทรเลขฉบับนี้ มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ผมได้ทำการแปลทั้งหมดมาให้ดูกันข้างล่าง


แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่า "แบ็คกราวน์" หรือปริบทของโทรเลขฉบับนี้ ดังนี้


เมื่อคึกฤทธิ์ ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2518 เขาตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในขณะนั้น  (เช่น การถอนตัวของสหรัฐจากอินโดจีน, การรับ "จีนแดง" เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แทนไต้หวัน) เขาจึงพยายามเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยให้สอดคล้องกัน โดยการประกาศว่า จะให้ฐานทัพและทหารสหรัฐที่ประจำในไทย ถอนตัวออกไปภายใน 1 ปี จะสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และหาทางสร้างสัมพันธ์อันดีกับเวียดนามเหนือ


ภายในเวลาเดือนเดียวหลังการตั้งรัฐบาล ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้รับชัยชนะเด็ดขาดในเวียดนามใต้และกัมพูชา และในปลายปีนั้น ประเทศลาว ที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ก็เปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ ยุติระบอบกษัตริย์ลง


รัฐบาลคึกฤทธิ์ อยู่ในตำแหน่งเพียง 10 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2519 แม้จะได้ทำการสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนสำเร็จ (คึกฤทธิ์ เดินทางไปเยือนจีน และพบกับ เหมาเจ๋อตุง) แต่นโยบายเปิดสัมพันธ์กับเวียดนามที่รวมประเทศภายใต้คอมมิวนิสต์ ยังไม่ทันดำเนินการให้ลุล่วงไป รวมทั้งก่อนที่จะครบกำหนดการถอนฐานทัพและทหารสหรัฐออกจากไทย ซึงมีกำหนดให้เป็นวันที่ 20 มีนาคม 2519


รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ที่เข้ารับตำแหน่งแทน ได้สืบทอดดำเนินนโยบายทั้ง 2 เรื่องนั้นต่อ (ถอนฐานทัพสหรัฐ และเปิดสัมพันธ์กับเวียดนาม) 


เรื่องแรกนั้น เมือครบกำนหดวันที่ 20 มีนาคม สหรัฐและไทยได้ตกลงขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน การถอนฐานทัพและทหารสหรัฐให้เสร็จสิ้นได้ถูกกำหนดใหม่เป็นวันที่ 20 กรกฎาคม 2519


ปรากฏว่า ยิ่งใกล้ครบกำหนดวันที่ 20 กรกฎาคม พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ยิ่งแสดงอาการหวั่นวิตก และพากันออกมาคัดค้านการถอนฐานทัพ จนเกิดเป็นบรรยากาศการเมืองอันตึงเครียดอย่างมาก


ในส่วนนโยบายเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามนั้น ในที่สุด รัฐบาลเสนีย์ก็ดำเนินการสำเร็จในเดือนสิงหาคมปีนั้น (2519) ผมควรบันทึกถึงความ irony หรือ ตลกร้าย อย่างหนึ่งเกียวกับเรื่องนี้ด้วยว่า บุคคลที่มีบทบาทผลักดันสำคัญในเรือ่งนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำให้เขาถูกมองอย่างไม่พอใจจากพลังอนุรักษ์นิยมในตอนนั้น ที่ irony คือ ปัจจุบัน นายอานันท์ ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ใกล้ชิด และได้รับความไว้วางใจจาก "ราชสำนัก" มากที่สุดผู้หนึ่ง


สภาวะที่หวาดระแวงวิตกกระวนกระวายใจ จนกลายเป็นความตื่นตระหนก ของฝายอนุรักษ์นิยมไทยในขณะนั้น จนฝ่ายอเมริกันเองต้องคอยเตือนสติ ที่สะท้อนออกมาในเนื้อหาของโทรเลขข้างล่างนี้ ชวนให้นึกถึงเนื้อหาในพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2518 ที่ถูกนำมาทำเป็นเพลง "เราสู้" - "สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย" ซึ่งสะท้อนภาวะความรู้สึกในเชิง "จนมุม" (cornered) มากกว่า ความมั่นใจและสงบมีสติ (confidence and calm) ตามที่ฝ่ายอเมริกันพูดถึง ควรชี้ให้เห็นด้วยว่า ในพระราชดำรัสดังกล่าว ในหลวงทรงแสดงความกังวลเรื่องเวียดนาม จะกลายมาเป็น "นาย" ของไทยด้วย - ดูบทวิเคราะห์พระราชดำรัส และเพลง "เราสู้" ของผมในบทความ "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองไทย 2518-2519", ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, หน้า 115-148 หรือ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ที่นี่ 


ต่อไปนี้คือ คำแปลโทรเลขของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ถึงวอชิงตัน ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2519




1. กำหนดเส้นตายการถอนทหารสหรัฐจากประเทศไทยภายในวันที่ 20 กรกฎาคม กลายเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างประหลาดในกรุงเทพ และยิ่งตึงเครียดเพิ่มขึ้น ด้วยการประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ, ด้วยการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ของนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชน ผู้ซึ่งในความเป็นจริงก็อยู่ในอาการสงบอยู่แล้ว และด้วยมาตรการเตรียมการทางทหารและกึ่งทหารสารพัดอย่าง. บรรยากาศหวั่นวิตกดังกล่าวได้ถูกแสดงออกมาในลักษณะประหลาดในวันนี้ เมื่อผมได้รับการมาเยี่ยมแต่เช้าตรู่โดยพันเอกพินิจ อดีตนักเรียนเวสต์พ้อยท์ที่ผมเคยรู้จักในลาว เขากล่าวว่า ในหลวงทรงกังวลต่อความปลอดภัยของผมและขอให้ผมบอกในหลวงเป็นการส่วนพระองค์ถ้าหากผมต้องการอะไร. พันเอกพินิจกล่าวว่า ราชเลขานุการของในหลวงจะมาพบผมในวันนี้.


2. ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขานุการในหลวง และ ม.ร.ว.อดุล กิตติยากร น้องชายของพระราชินี ได้มาที่บ้านพักทูตในบ่ายวันนี้. ทวีสันต์กล่าวว่าในหลวงได้บอกให้เขามา เพื่อทรงฝากความปรารถนาดีมาให้ และให้บอกผมว่าทรงห่วงความปลอดภัยของผมและของสถานทูต. ถ้าผมต้องการอะไรก็ตาม ขอให้บอกขอไปยังในหลวงได้อย่างเต็มที่. ผมได้แสดงความขอบคุณและความรู้สึกประหลาดใจอย่างสุภาพออกไป.


3. ในการสนทนาที่ตามมา ผมไม่สามารถได้คำอธิบายจากทวีสันต์ถึงเหตุผลเฉพาะเจาะจงอะไรที่ทำให้ในหลวงทรงห่วงกังวล. ทวีสันต์กล่าวว่ารองอธิบดีกรมตำรวจได้รับข่าวกรองจากทหารว่าอาจจะมีบางอย่างเกิดขึ้นและได้สั่งการให้เตรียมพร้อมเป็นพิเศษเมื่อวานนี้. (นี่คงเป็นสาเหตุว่าทำไมตำรวจจึงได้จัดมาตราการรักษาความปลอดภัยที่บ้านพักและสถานทูตชนิดที่ผมมองว่าค่อนข้างเกินเหตุในวันที่ 20.) ทวีสันต์ยอมรับว่ามีความตึงเครียดสูงและดูเหมือนจะโล่งใจอย่างมหาศาลเมื่อพบว่าพวกเราที่สถานทูตไม่ได้อยู่ในสภาพเตรียมการพร้อมรบอะไร. เขากล่าวว่ามีข่าวว่าฝ่ายซ้ายจะสร้างสถานการณ์. นอกจากนี้ ในหลวงและพระราชินีทรงห่วงกังวลถึงความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยจะสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตกับฮานอยและทรงยินดีที่จะรับทราบความเห็นของผม. ผมบอกว่า ผมไม่คิดว่าความเสี่ยงอันตรายจะเพิ่มหรือน้อยลงจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต.


3. ผมได้ตัดสินใจพูดออกไปตรงๆแบบไม่เกรงใจ กับทวีสันต์ว่า ยกเว้นแต่จะมีข่าวกรองที่ชัดเจนบางอย่างที่ผมเองไม่ทราบ ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมบรรดาผู้สนับสนุนของรัฐบาลและของในหลวง จึงทำตัวเองให้ไปอยู่ในภาวะหวั่นวิตกกระวนกระวายแบบนี้. สำหรับผมแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเฉพาะหน้าเร่งด่วนที่จะต้องกังวลเลย และว่า การเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและการปรากฏตัวทางทีวีของผู้นำรัฐบาล ยิ่งสร้างบรรยากาศของวิกฤติ ทั้งๆที่ประเทศไทยควรพยายามส่งสัญญาณความมั่นใจและความสงบมีสติ. เป็นการยากที่จะเชื่อว่า นักศึกษาฝ่ายซ้ายเพียงหยิบมือเดียว และเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นอะไรเลยอย่างการถอนตัวของสหรัฐ จะสมควรที่ทำให้ถึงกับต้องใช้มาตรการเตรียมพร้อมสารพัดอย่างของ กระทิงแดง / ลูกเสือชาวบ้าน / ทหาร หรือตำรวจ ฯลฯ อย่างที่เห็นกันเลย


4. ทวีสันต์ กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง พรมแดนติดกับลาวที่ยาวเหยียด เปิดช่องให้มีการแทรกซึมเข้ามาได้สารพัดรูปแบบ. เวียดนามมีลักษณะก้าวร้าวและมีกองทัพที่ใหญ่โต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยจะต้องระมัดระวัง. ผมได้อธิบายต่อทวีสันต์ถึงเหตุผลที่ทำให้ผมไม่คิดว่า ทัพหน้าจู่โจมของเวียดนามจะพรวดพราดเข้ามาในประเทศไทย และย้ำประเด็นที่ว่าประเทศไทยที่มีชีวิตชีวารุ่งเรืองและมีความมั่นใจตัวเอง ไม่ควรจะต้องหวาดกลัวการแทรกซึมจากประเทศที่ยากจนและล้าหลังอย่างลาว. ผมกล่าวต่อไปว่า นโยบายชนบทของคอมมิวนิสต์ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ และว่าผมไม่ได้มองสถานการณ์แบบมืดมนเหมือนทวีสันต์ ขอเพียงแต่ให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายและการปฏิรูปที่จำเป็น. 


5. การไม่หวั่นวิตกกระวนกระวายใจต่อสถานการณ์ขณะนี้ของฝ่ายเรา ทำให้ทวีสันต์ ผู้มีท่าทางเหนื่อยล้า รู้สึกโล่งอกมากๆอย่างชัดเจน. ผมเชื่อว่า ราชสำนักได้ทำตัวเองให้ตกอยู่ในภาวะขวัญผวา และหวังว่าเมื่อทวีสันต์กลับไปถ่ายทอดเรื่องที่สนทนากับเรา จะช่วยทำให้กลุ่มราชสำนักเริ่มมองอะไรอย่างเป็นสัดส่วนขึ้นบ้าง เพราะการกระทำของกลุ่มนี้ในระยะหลังมีแนวโน้มจะยิ่งทำให้ความคิดเห็นสาธารณะแตกเป็นสองขั้วมากยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นแรงบันดาลให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถ้าขาดเสียแล้ว สถานการณ์ในประเทศไทยมีแต่จะแย่ลงโดยรวดเร็ว.