Friday, June 21, 2013

คำแปลฉบับเต็ม โทรเลขวิกิลีกส์ 25 มกราคม 2553 (ทูตอเมริกันพบ เปรม, สิทธิ, อานันท์) ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับใหม่

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Tuesday, February 1, 2011 at 9:43pm






เมื่อเช้าตอนผมโพสต์เรื่อง "ฟ้าเดียวกัน" เล่มล่าสุด ว่ามีเรื่องน่าสนใจมาก ตอนต้นเล่ม และท้ายเล่ม ผมจงใจพูดถึงเฉพาะท้ายเล่ม ที่ตีพิมพ์เอกสารการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปี 2485 ซึ่งเป็นเอกสารชั้นต้นชิ้นสำคัญมากๆที่ไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน ซึ่งสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ต้องถือเป็นการค้นพบ/เผยแพร่ ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบสิบๆปี (เป็นผลงานของ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬา)  http://www.facebook.com/photo.php?fbid=151672991552655&set=a.137616112958343.44289.100001298657012 

อย่างไรก็ตาม ผมจงใจไม่พูดถึง ตอนต้นเล่ม เพราะบอกตรงๆว่า ผม "สะดุ้ง" เหมือนกัน ที่เห็น "ฟ้าเดียวกัน" ตีพิมพ์คำแปลฉบับเต็ม โทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นเรื่องการพบปะระหว่างทูตสหรัฐกับ เปรม, สิทธิ และ อานันท์ ที่บัดนี้คงรู้กันดีแล้วว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและการสืบราชสันตติวงศ์

ตั้งแต่โทรเลขวิกิลีกส์ 4 ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมก็รู้สึกมาตลอดว่า โทรเลขฉบับ 25 มกราคม 2553 นี้ เป็นฉบับที่มีเนื้อหาสำคัญที่สุด และยากที่สุด ที่จะนำมาอภิปรายในที่สาธารณะ อย่าว่าแต่แปลออกมาทั้งฉบับ (โทรเลขวิกิลีกส์อีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ที่สมัคร พูดกับทูตสหรัฐเกี่ยวกับพระราชินี, พันธมิตร และการรัฐประหาร 19 กันยา แม้จะสำคัญ และยากในการอภิปรายและแปล ก็ยังไม่เท่าฉบับวันที่ 25 มกราคม นี้)

นอกจาก "สะดุ้ง" แล้ว ก็ "ทึ่ง" ในความ "ใจถึง" ของคนทำ "ฟ้าเดียวกัน" แน่นอน ผมสนับสนุนการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและอย่างเต็มที่ เพียงแต่ก็ไม่แน่ใจว่า ตราบเท่าที่กฎหมายจำกัดเสรีภาพในเรื่องนี้ยังคงอยู่ เราสามารถทำได้แค่ไหนเพียงใดเมื่อไร ด้วยความไม่แน่ใจว่า คนทำ "ฟ้าเดียวกัน" ต้องการจะให้เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่นำมาโฆษณาป่าวประกาศหรือไม่ หรือต้องการเพียงให้ผู้สนใจ เมื่อเลือกซื้ออ่าน "ฟ้าเดียวกัน" เล่มนี้แล้ว ไปค้นพบด้วยตัวเองว่า มีคำแปลฉบับเต็มของโทรเลขดังกล่าวอยู่ ผมจึงรอ ไม่พูดไปเมื่อเช้านี้ และเขียนไปถามคนทำ "หลังไมค์" ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ยินดีให้อภิปราย

โพสต์นี้ ผมก็เพียงต้องการจะบอกให้ทุกคนที่สนใจ โทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับนี้ และอาจจะอ่านภาษาอังกฤษได้ไม่แข็งแรง ไปหาอ่านเอาจาก "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับใหม่ได้

นอกจากนี้ ผมมีบางประเด็นเกี่ยวกับคำแปลฉบับเต็ม ของ "ฟ้าเดียวกัน" ที่คิดว่า น่าจะถือโอกาสบอกผู้ไปหาอ่านล่วงหน้า เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านภาษาไทย เฉพาะที่ต้องการจะศึกษา เนื้อหาของโทรเลขนี้ ชนิดละเอียดละออมากๆกล่าวคือ ผมได้อ่านเทียบคำแปลของ "ฟ้าเดียวกัน" เฉพาะในส่วนที่โทรเลขพูดถึงสถาบันกษัตริย์ (ผมไม่มีเวลาพอจะทำกับส่วนอื่น ทั้งฉบับ) กับต้นฉบับภาษาอังกฤษ ชนิด คำต่อคำ ประโยคต่อประโยคแล้ว พบว่า โดยรวม เป็นคำแปลที่ตรงกับต้นฉบับ ชนิดที่่พอจะใช้อ้างอิงได้ อย่างไรก็ตาม มีบางคำ หรือบางประโยค ที่ผมเห็นว่า แปลผิด หรือ คลาดเคลื่อน และบังเอิญทำให้ความหมายที่มีความสำคัญพอควร ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนไปได้ ดังนี้ (ผมต้องขอรบกวนให้ผู้อ่านที่สนใจ หาต้นฉบับภาษาอังกฤษกันเองนะครับ)

ในบรรทัดแรกสุด คำว่า call ไม่ใช่หมายถึง ทูตสหรัฐ "โทรศัพท์" ไปหา เปรม, สิทธิ, อานันท์ นะครับ แต่หมายถึง ไปหา (visit) เลยน่ะครับ เนื้อหาของโทรเลข ก็คือการไปพบคนเหล่านี้ด้วยตัวเองของทูต

ข้อ (7) คำว่า regain weight แปลว่า "เพิ่มน้ำหนัก" แม้จะไม่ถึงกับผิด แต่ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว คือ ตามรูปประโยค หมายความว่า ในหลวงทรงน้ำหนักลดลงไป (เกินกว่าพระพลานามัยปกติ) และหมอกำลังพยายามให้ regain weight คือ ให้น้ำหนักกลับมาอยู่ ในระดับปกติ หรือระดับเดิม

ข้อ (8) คำว่า probably ที่แปลว่า "อาจ" ผมคิดว่าความหมาย "อ่อน" กว่าต้นฉบับ ถ้าให้ตรง คงต้องเป็นคำว่า "น่าจะ"

ข้อ (8) เช่นเดียวกัน แต่ตรงนี้ แปลผิดอย่างสำคัญมากเหมือนกัน (ในบริบทของเนื้อหา) ประโยคที่ว่า "he does not enjoy that sort of relationship" คำว่า he หมายถึง ทักษิณ ครับ ไมใช่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช คือเปรมกำลังบอกว่า ทักษิณ "หลงตัวเอง" ที่คิดว่าความสัมพันธ์เป็นอย่างนั้น แต่จริงๆแล้ว ทักษิณหาได้มี หรือ หาได้รับ (enjoy ไม่ใช่ "ชอบ" หรือ "ยินดี" ตามที่แปล นะครับ ในบริบทของประโยคนี้ แต่หมายถึง ได้มี-ได้รับ [แบบค่อนข้างพิเศษ] หรือในสำนวนฝรังอีกอย่างคือ have the privilege of) ความสัมพันธ์ในลักษณะนั้นแต่อย่างใดไม่

ข้อ (8) ในประโยคถัดมา ตรงนี้แปล "ตก"อย่างสำคัญเหมือนกัน (ในบริบทของเนื้อหา) คือ คำว่า how he is ไปแปลรวมกับอนุประโยคก่อนหน้านั้น ความจริง อันนี้ เป็นการพูดในอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะทั่วไป มากกว่า เรื่อง social life ครับ ไมใช่เรื่องเดียวกัน

ข้อ (9) ประโยคสุดท้าย แม้จะแปลไม่ผิด แต่ในความเห็นผม การเรียบเรียงประโยคในภาษาไทย ทำให้ไม่ชัดเจนเด็ดขาดลงไป (เหมือนภาษาอังกฤษ) ว่า กำลังหมายถึงทักษิณที่แสดงทัศนะเหล่านั้น ไมใช่ สิทธิ

ข้อ (11) คำว่า assessment of dynamics in play ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ "ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว" ตามที่แปลนะครับ ผมว่าเขาหมายถึงกว้างกว่านั้น ในแง่ ความเป็นไปต่างๆ หรือ ความเคลื่อนไหวต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ

ข้อ (11) ตอนท้าย ที่เป็น "note" ของทูตนั้น ในความเห็นผม คำแปลของ "ฟ้าเดียวกัน" น้ำหนักยังไม่เท่ากับเนื้อหาในภาษาอังกฤษ (พูดแบบฝรังคือ ประโยคดั้งเดิมมีความหมายที่ strong กว่า คำแปล) คือ "ฟ้าเดียวกัน" แปลในความหมายของ "เป็นทางเลือกนอกจาก" แต่ผมเห็นว่าในรูปประโยคภาษาอังกฤษ น่าจะหมายถึง "แทน" (alternative ในที่นั้นคือ replacement) มากกว่า

ข้อ (12) คำว่า enduring ผมเข้าใจว่า ผู้แปลใช้คำว่า "เดือดร้อน" เพื่อแปลคำนี้ แต่จริงๆในปริบทของประโยค ไม่ได้หมายถึง to endure (ทน - เดือดร้อน) แต่หมายถึง "ไม่เลิก" "ไม่หยุดหย่อน"