Sunday, June 30, 2013

Postscript (ปัจฉิมลิขิต) "กงจักรปีศาจ" ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน: ครูเกอร์เขียนถึงปรีดี ซึ่งเขาเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2514

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Sunday, June 30, 2013 at 8:55pm




หนังสือ The Devil's Discus หรือ "กงจักรปีศาจ" โดย เรน ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเพียงครั้งเดียวในปี 2507 (1964)

แต่ตามข้อมูลของคุณ C.J. Hinke แห่งกลุ่ม FACT (Freedom Against Censorship Thailand) เคยมีการพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" ในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง (ดูข้อมูลของคุณ Hinke จากกระทู้นี้ ที่ New Mandala ข้อความอ้างตรง (direct quotation) ที่ 2 http://goo.gl/pd6uM) คุณ Hinke ไม่เคยให้รายละเอียดฉบับภาษาญี่ปุ่น และ ดังทีจะกล่าวต่อไป คุณ Hinke ไม่มีข้อมูลเรื่องความเกี่ยวข้องของครูเกอร์ กับฉบับภาษาญี่ปุ่นดังกล่าว

ผมเองไม่เคยเห็นฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นที่ว่านี้ และก่อนหน้านี้ ก็ไมค่อยแน่ใจว่า มีจริงหรือไม่ จนเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ข้อมูลจาก ญาติมิตรคนรู้จักครูเกอร์คนหนึ่งว่า มีการตีพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้น ครูเกอร์ ยังได้เขียน "ปัจฉิมลิขิต" (Postscript) สั้นๆ เพื่อรวมเข้าไว้ในตอนท้ายของ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นนั้นด้วย

Posscript สำหรับ "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่นนี้ ครูเกอร์เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (เพื่อส่งให้ผู้จัดพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นไปแปลและพิมพ์รวมไว้ท้ายเล่ม) ผมไม่มีข้อมูลว่า สุดท้าย "ปัจฉิมลิขิต" นี้ ได้รับการรวมอยู่ใน "กงจักรปีศาจ" ฉบับภาษาญี่ปุ่น ตามความต้องการของครูเกอร์หรือไม่ เพราะไม่เคยเห็นฉบับภาษาญี่ปุ่นดังกล่าว ต้นฉบับ Postscript นี้ เขียนขึ้นในช่วงต้นของปี 2515 (1972) ไม่เกินเดือนมิถุนายน

เมื่อ 2 ปีก่อน คุณ Hinke ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณ Prue Leith ภรรยาของครูเกอร์ (ครูเกอร์ ถึงแก่กรรมในปี 2545) จากคำถาม ดูเหมือนว่าคุณ Hinke ไม่รู้มาก่อนว่า ครูเกอร์ รู้ถึงการแปลและการจัดพิมพ์ "กงจักรปีศาจ" เป็นภาษาญี่ปุ่น (ดูบทสัมภาษณ์ที่นี่ http://goo.gl/BZJAl ) จาก Postscript นี้ ยืนยันว่า ครูเกอร์ไม่เพียงแต่รู้ถึงการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น เขายังได้เขียน "ปัจฉิมลิขิต" ให้สำหรับฉบับพิมพ์นั้นด้วย (ดูจากคำตอบ คุณ Leith เองก็อาจจะไม่รู้เรื่องที่ครูเกอร์เขียน "ปัจฉิมลิขิต" นี้ให้)

C.J. Hinke: Was Rayne aware of the Japanese and Thai translations of The Devil’s Discus? Was he in contact with their translators?

Prue Leith: Yes, he’d been sent various translations, but since he did not read  Thai or Japanese language, he has never read them.

คุณเรนรู้หรือไม่ว่ามีการแปล The Devil's Discus เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย? เขาได้ติดต่อกับคนแปลหรือไม่?

ใช่ เขาได้รับการส่งคำแปลในภาษาต่างๆมาให้ แต่เนื่องจากเขาอ่านไทยหรือญี่ปุ่นไม่ได้ เขาจึงไม่เคยอ่านฉบับแปลพวกนั้น 

จากข้อมูลที่ผมมีอยู่ ในระหว่างการค้นคว้าและเขียน "กงจักรปีศาจ" ครูเกอร์ไม่เคยติดต่อหรือพบกับปรีดีเลย เพราะขณะนั้น ปรีดีลี้ภัยอยู่ในจีน และไม่เกี่ยวข้องด้วย

เล่ากันว่า (หนึ่งในคนเล่าเรื่องนี้คือ พอล แฮนด์ลี่ ผู้เขียน The King Never Smiles ดูความเห็นหมายเลข #9 ท้ายกระทู้ New Mandala ที่อ้างถึงข้างต้น) คนที่มีบทบาท - หรือถ้าจะว่า "อยู่เบื้องหลัง" หรือ "สนับสนุน" - ให้ครูเกอร์ เขียน "กงจักรปีศาจ" คือ "ท่านชิ้น" หรือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ น้องชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7

จาก Postscript นี้ ครูเกอร์ได้ยืนยันว่า เพิ่งพบปรีดีเป็นครั้งแรก ในปี 2514 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากปรีดี ย้ายจากจีนมาฝรั่งเศส

ใน Postscript สั้นๆนี้ ครูเกอร์เล่าความรู้สึกประทับใจและยกย่องปรีดีไว้อย่างน่าสะเทือนใจ ดังนี้ (ขออภัยที่สำนวนแปลไทยของผมไม่ค่อยดีนัก ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้จะได้อรรถรสมากกว่า):

ปัจฉิมลิขิต

เป็นเวลาเกือบสิบปี ตั้งแต่ที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้. เวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผมต้องเปลี่ยนข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปใดๆของหนังสือ.

ในเวลาดังกล่าว สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมได้ทรุดหนักลง ความทุกข์ยากเดือดร้อนของมวลชนยิ่งเข้มข้นมากขึ้น. ในประเทศไทยเอง การปกครองแบบเผด็จอำนาจและฉ้อโกงของทหารไม่ได้ลดทอนลง.

ในสภาพเช่นนี้ ถ้าเราจะยังพอมองเห็นความหวังได้ที่ไหน ก็คือที่ตัวบุคคลและแบบอย่างของ ปรีดี พนมยงค์. ปีที่แล้ว หลังจากเขาได้ปรากฏตัวจากประเทศจีน มาอาศัยในยุโรปตะวันตก, ผมได้มีประสบการณ์สะเทือนใจในการได้พบปะกับเขาเป็นครั้งแรก เขาผู้ซึ่งโชคชะตาและการปองร้าย ได้พยายามทำลายอย่างไร้ผล. กล้าหาญและทรงปัญญา, สุภาพและมีอารมณ์ขัน, วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับสังคมยุติธรรมสำหรับประชาชนของเขา ยังคงไม่มัวหมองลงเลย เช่นเดียวกับความใสสว่างเป็นประกายในดวงตาของเขาทีมองเห็นวิสัยทัศน์นั้น -- เป็นไปไม่ได้เลย ที่ใครที่ได้รู้จักเขาจะไม่รู้สึกอย่างลึกๆถึงโศกนาฏกรรมของการที่เขาต้องลี้ภัยจากประเทศจนบัดนี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่เกิดความรู้สึกมีความหวัง สำหรับประเทศของเขาที่สามารถผลิตคนอย่างเขาขึ้นมาได้ และสำหรับโลกกว้างออกไป ที่บุคคลที่น่าอัศจรรย์อย่างหาได้ยากเช่นนี้ ได้ช่วยชี้ทางข้างหน้าให้เราทุกคน 





* ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า "ปัจฉิมลิขิต ... ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน" เพราะดังกล่าวแล้วว่า ผมไม่รู้ว่า มีการรวม "ปัจฉิมลิขิต" นี้อยู่ในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นหรือไม่ อีกอย่างหนึ่ง หากมีการรวมอยู่ในฉบับนั้นด้วย ก็คงเป็นภาษาญี่ปุ่น ไม่ใช่ภาษาอังกฤษตามต้นฉบับนี้ ดังนั้น ก็เรียกได้ว่า "ปัจฉิมลิขิต" ในภาษาอังกฤษนี้ "ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน" จริงๆ ทีสำคัญ ผมไม่คิดว่า มีคนเคยเห็นหรือพูดถึง "ปัจฉิมลิขิต" นี้มาก่อน