Thursday, June 20, 2013

กรณีตัวอย่างที่สถาบันกษัตริย์ สามารถปฏิเสธรัฐประหาร และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐประหารพ่ายแพ้ได้ : "กบฏยังเติร์ก" 2524 [มี pdf]

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Monday, January 31, 2011 at 7:58am




ประเด็นสถาบันกษัตริย์ กับการรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน พวกรอยัลลิสต์ มักจะเสนออย่างง่ายๆว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร พระมหากษัตริย์ทรงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องทรงรับรองการรัฐประหารนั้นในทางใดทางหนึ่ง (การแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร, การประกาศรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร) เรียกตามภาษาฝรั่งว่า การรัฐประหารเป็น fait accompli (สิ่งที่สำเร็จไปแล้วแก้ไขไม่ได้)

แต่ความจริงของประเด็นนี้ ห่างไกลจากคำอธิบายง่ายๆเช่นนี้มาก ยกตัวอย่างเช่น ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนหนึ่งที่เสนอว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพันธะที่จะต้องคัดค้าน ไม่รับรองการรัฐประหาร (ดูบทความของผมเรื่อง "สาร" (message) จากปรีดี พนมยงค์ ถึง ในหลวงภูมิพล เมื่อปี 2516: "พระราชปิตุลาทรงให้สัตยาธิษฐานไว้แล้วว่า พระราชปิตุลาและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีองค์ต่อๆไปทุกพระองค์ จะต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการยึดอำนาจที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ" http://www.prachatai.com/journal/2010/12/32177 )

ยิ่งกว่านั้น หากศึกษารายละเอียดของการรัฐประหารสำคัญๆ เช่น รัฐประหารของสฤษดิ์ ในปี 2500 หรือรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ก็จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการรัฐประหาารในประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกรอยัลลิสต์กล่าวอ้าง

เมื่อ 30 ปีก่อน (จะครบรอบภายใน 2 เดือนนี้) ได้เกิดการทำรัฐประหาร โดยกลุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก" (แต่ให้ พล.อ.สันต์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้า - พล.อ.สันต์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และกล่าวได้ว่ามี "ประโยชน์ได้-เสีย" จากการรัฐประหาร เพราะการต่ออายุเปรมในปีก่อนหน้านั้น ทำให้เขาหมดโอกาสเป็นผู้บัญชาการทหารบก) การรัฐประหารครั้งนั้นถูก พล.อ.เปรม ปราบปรามให้พ่ายแพ้ไป โดยมี พลโท อาทิตย์ กำลังเอก ที่เป็นแม่ทัพภาค 2 ขณะนั้น เป็นหัวหน้าในการดำเนินการปราบปราม

ไฟล์ pdf ข้างล่างนี้ ผมทำขึ้นจาก การถอดเทปคำบรรยาย ของ พลโท อาทิตย์ ซึ่งตีพิมพ์ใน สยามใหม่ ของชัชรินทร์ ไชยวัตน์ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2524 การบรรยายแบบ "ปิดลับ" ของอาทิตย์ ครั้งนั้น มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากเขานำการปราบ "กบฏยังเติร์ก" ได้สำเร็จ เป็นคำบรรยายที่น่าสนใจ และหาได้ยากมาก (ไม่มี นสพ.ฉบับใดในขณะนั้นตีพิมพ์หรือกล่าวถึง)

ประเด็นที่ผมอยากให้สนใจเป็นพิเศษ คือในส่วนที่ อาทิตย์ เล่าเกียวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งสนับสนุนข้อเสนอ (ของปรีดีเป็นต้น) ที่ว่า สถาบันกษัตริย์ มีบทบาทในเชิง ปฏิเสธ หรือ ทำให้การรัฐประหารล้มเหลวได้ (ในแง่มุมที่กว้างออกไป เรื่องนี้ยังเป็นการปฏิเสธ "มายา" [myth] ของพวกรอยัลลิสต์ที่ว่า "สถาบันกษัตริย์เป็นกลาง-อยู่เหนือการเมือง") โดยอาทิตย์ ได้เล่าว่า

- พระราชินี ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วย เปรม ให้หลุดพ้นจากการกักตัวของพวกยังเติร์ก โดยทรงโทรศัพท์ไปบอกพวกยังเติร์กว่า "ถ้าภายในครึ่งชั่วโมงนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังออกจากบ้านมาเข้าเฝ้าไม่ได้ ฉันจะออกไปรับด้วยตัวฉันเอง" (หน้า 14 ในนิตยสารดังกล่าว หรือหน้า 4 ของไฟล์ pdf และดูหน้าก่อนนั้นด้วย) การรอดพ้นการกักตัวของเปรม เป็นจังหวะก้าวทีสำคัญมากๆ ที่นำไปสู่การที่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว

- ในหลวงและพระราชินี ทรงรับคำเชิญของอาทิตย์ ให้เสด็จออกจากกรุงเทพพร้อมเปรม ไปโคราช ที่ตั้งกองบัญชาการปราบกบฏ

- เดิมในหลวงจะทรงเสด็จต่อไปยังพระตำหนักภูพาน ทีสกลนคร (ซึ่งย่อมจะทำให้พระองค์อยู่ห่างออกจากทั้งฝ่ายเปรมและฝ่ายกบฏ ในลักษณะ "เป็นกลาง" ได้)  แต่ทรงเปลี่ยนพระทัย ประทับอยู่ที่โคราชกับกองบัญชาการปราบกบฏ ("ท่านก็ว่า ท่านจะอยู่ทีนี่แหละ" หน้า 15 ในนิตยสาร หน้า 5 ของไฟล์ pdf)

สองประเด็นหลังนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างใหญ่หลวงที่ทำให้ฝ่ายกบฏสูญเสียความชอบธรรม และสนับสนุนฝ่าย พล.อ.เปรม และความสำเร็จของการปราบกบฏ

ดาวน์โหลด pdf คำบรรยายของ อาทิตย์ ได้ที่นี่