Friday, June 21, 2013

บันทึกเปิดผนึก เรียน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าด้วย "ความยุติธรรม"

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Thursday, March 31, 2011 at 10:27am





ผมทราบว่า ในราชาศัพท์ การ "แอ๊ดเดรส" เจ้านายระดับ "เจ้าฟ้า" นั้น ใช้คำประเภท "ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท" และ "ใต้ฝ่าพระบาท" และคำเรียกตัวเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ว่า (1) นี่เป็นบทความสำหรับการอภิปรายสาธารณะ ที่ต้องการให้อ่านกันสะดวก และ (2) "ใต้ฝ่าพระบาท" เอง ทรงมีหลายสถานะ รวมทั้งสถานะความเป็น "นักวิชาการ/อาจารย์" แบบเดียวกับผม ผมเลือกทีจะพูดในสถานะแบบนี้ เพื่อความสะดวก ในส่วนอื่นๆของบทความนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพ แต่ไม่ได้ใช้ในทุกๆประโยค ทุกๆกรณีเพื่อความสะดวก ]


ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ออกทีวีในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ตามที่มีรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะทาง "ข่าวสด" ที่ผมใช้อ้างอิงในบทความนี้ ( http://goo.gl/vv3Rb )

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์นี้ ที่ผมเห็นว่า ควรจะได้แลกเปลี่ยนกับพระองค์และสาธารณะ

ตามรายงานข่าว พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

ใจจริงของฉันอยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ

เรื่องที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถนี้ได้เป็นประเด็นหลักที่หนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่่องการพระราชทานสัมภาษณ์นี้ นำไปพาดหัว

ในความเห็นของผม ปัญหามีอยู่ว่า การให้สัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับ 2 พระองค์ นี้ โดยการให้สัมภาษณ์เอง เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่แฟร์ ถ้าถือตามความหมายของคำนี้ตามที่ยอมรับกันทั่วไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) ไม่ได้ทรงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็จริง

แต่โดยประเพณีของการตีความกฎหมายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลที่ผ่านๆมา และในปริบทของการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะพลเมืองตั้งแต่เด็กๆแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ว่าระดับใด (รวมทั้งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) โดยที่การประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะดังกล่าว ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ได้

ผลก็คือ แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของพระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) เช่นนี้ ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การจะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง 2 พระองค์ด้วย (เช่น ทรงไม่ได้รับ "ความยุติธรรม" หรือไม่อย่างไร เป็นต้น)

ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะ แสดงความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เป็นสาธารณะ เช่นที่ทรงให้สัมภาษณ์นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งโต้แย้งได้ การไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น ย่อมถือเป็นการ "ไม่แฟร์" หรือ "ไม่ยุติธรรม" 

ในปริบทสังคมไทยทั้งทางกฎหมายและทางการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะดังกล่าว ทำให้การพระราชสัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" นี้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ ที่ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ซึ่ง "ไม่ยุติธรรม" ไปโดยปริยาย



........................................


ผู้ "นิยมเจ้า" จำนวนไม่น้อย มักจะโต้แย้งว่า การมี "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ตรวจสอบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นเพราะ พระราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาโต้แย้งหรือตอบโต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้  (มักจะพูดกันทำนองว่า "พระองค์ท่านไม่สามารถตอบโต้ได้" จึงต้องให้รัฐทำการ "ตอบโต้" ด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงในระดับที่ไม่มีประเทศอารยะที่ไหนอนุญาตให้มี)

ความจริง "เหตุผล" หรือข้อโต้แย้งนี้ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เป็นเหตุผลแต่แรก เพราะ เป็นการให้เหตุผลแบบกลับหัวหลับหาง เอาปลายเหตุมาอ้างเป็นต้นเหตุ

การที่มีผู้เรียกร้องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (accountability) เกี่ยวกับพระราชวงศ์นั้น เริ่มมาจากการที่พระราชวงศ์ได้เข้ามามีบทบาททางสาธารณะในทุกด้านอย่างมหาศาล โดยมีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียว เป็นเครื่องพยุงส่งเสริมบทบาทเหล่านั้น ซึงตามบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกอารยะ (รวมทั้งในประเทศไทยในกรณีอื่นๆ) บทบาทสาธารณะทุกอย่างของบุคคลสาธารณะและการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะทีเป็นสาธารณะในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโต้แย้งกระทั่งเสนอให้เอาผิดได้แต่แรก

ถ้าไม่มีบทบาทและระบบการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์แต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นหรือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอเอาผิด (accountability) แต่แรก

พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องเรื่อง accountability ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระราชวงศ์ ก็ต้องไม่มีบทบาทอันมหาศาลและระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ แต่แรก

การมีสิ่งเหล่านี้แต่แรก แล้วเมื่อมีคนเรียกร้องเรื่อง accountability ต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วฝ่าย "นิยมเจ้า" กลับมาอ้างว่าห้ามไม่ให้ทำ เพราะพระราชวงศ์ "ไม่สามารถออกมาตอบโต้เองได้" จึงเป็นการอ้างที่ภาวะปลายเหตุ อันเป็นภาวะที่เกิดจากการทำผิดหลักการเรื่องนี้แต่แรก 

การที่ประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศที่ยังมีพระราชวงศ์เป็นประมุข ไม่อนุญาตให้มีบทบาทสาธารณะของพระราชวงศ์และไม่อนุญาตให้มีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว อบรมบ่มเพาะพลเมืองด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ในลักษณะที่ประเทศไทยมี นับแต่สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ก็เพราะถือกันว่า การมีบทบาทสาธารณะและระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะพลเมืองเกี่ยวกับเรื่องใดๆก็ตามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเอาผิดของสาธารณะได้แต่ต้น

พวก "นิยมเจ้า" ของไทย ยอมให้มีการทำผิดหลักการเรื่องการมีบทบาทสาธารณะและประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะซึงเป็นเรื่องสาธารณะ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยไม่มีการวิพากษ์ตรวจสอบแต่ต้น ซึ่งการยอมให้มีภาวะนี้ (ถ้ายืมคำที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงใช้) ต้องถือเป็นความไม่ "ยุติธรรม" แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักการนี้ ให้ยุติภาวะ "ไม่ยุติธรรม" นี้ พวกเขาก็มาอ้างเรื่อง "พระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการอ้างในลักษณะที่ ต้องการรักษาภาวะที่ "ไม่ยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นก่อน จึงไม่สามารถเอาเรื่อง "ความยุติธรรม" มาอ้างได้

พูดง่ายๆคือ พวกเขากำลังอ้างว่า "ไม่ยุติธรรม ที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ความจริงที่มีคนต้องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดจากการที่สังคมไทยยอมให้มีความ "ไม่ยุติธรรม" เกิดขึ้นก่อน คือการยอมให้มีบทบาทสาธารณะอย่างมหาศาลของราชวงศ์และมีระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวมาพยุงบทบาทนั้นอย่างไม่มี accountability ก่อน ซึ่งไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ยอมให้มี "ความไม่ยุติธรรม" เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่แรกเป็นการผิดหลักการทีสังคมไทยเองใช้กับเรื่องสาธารณะทั้งหลายแต่แรก