Friday, June 21, 2013

"เรื่องเล่า" จากแวดวงราชสำนัก: ทำไม ในหลวง ไม่ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ จำเลยคดีสวรรคต

by สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Notes) on Thursday, February 17, 2011 at 8:03am






เมื่อ 6 ปีก่อน ในระหว่างที่ผมเขียนบทความเรื่อง "50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498" (ดาวน์โหลด pdf บทความนี้ได้ที่นี่่ http://www.enlightened-jurists.com/page/136 ) ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกโกรธมาก คือ การที่หนังสือThe Revolutionary King (2001) ที่เขียนโดย วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ได้ให้ข้อมูลที่ผิดบางอย่างเกี่ยวกับการประหารชีวิตจำเลยคดีสวรรคตในหลวงอานันท์

ดังที่หลายคนอาจจะทราบแล้ว สตีเวนสัน คือผู้เขียนหนังสือ A Man Called Intrepid ซึ่งในหลวงทรงแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ "นายอินทร ผู้ปิดทองหลังพระ" ในการค้นคว้าเพื่อเขียน The Revolutionary King สตีเวนสัน ได้รับพระบรมราชานุญาตให้มาใช้ชีวิตในประเทศไทยในแวดวงราชสำนัก ได้สัมภาษณ์สนทนากับทั้งในหลวง พระราชินี พระเทพ พระราชชนนี ข้าราชบริพารในพระองค์และผู้ใกล้ชิดราชสำนักจำนวนมาก น่าเสียดายที่หนังสือของสตีเวนสัน ไม่มีเชิงอรรถอ้างอิงที่แน่นอน ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่า ข้อมูลใดในหนังสือของเขา เอามาจากใครบ้าง อย่างไรก็ตาม คงไม่เป็นการเกินเลยไปที่จะคิดว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับราชสำนักส่วนใหญ่ในหนังสือของเขา เอามาจากการเล่าของคนในแวดวงราชสำนักเอง

ในหน้า 111 ของ The Revolutionary King สตีเวนสัน เขียนในลักษณะที่ว่าในหลวงทรงตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินคดีสวรรคตของรัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การบงการของกลุ่มพิบูล-เผ่า รวมทั้งการพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย สตีเวนสันอ้างว่า ในหลวงทรงกล่าวในภายหลัง (สตีเวนสันไม่ได้ระบุว่า เอาคำพูดของในหลวงตอนนี้มาจากที่ใด)

"กระบวนการอุทธรณ์คำตัดสินกำลังดำเนินการไป" ในหลวงทรงกล่าวในภายหลัง "ข้าพเจ้าไม่สามารถบ่อนทำลายฐานะของบรรดาผู้รักษาตัวบทกฎหมายของเราอย่างซื่อสัตย์ ด้วยการเข้าแทรกแซง จนกว่าฎีกาขออภัยโทษขั้นสุดท้ายมาถึงข้าพเจ้า"

['Fresh appeals against the sentences were in the works,' he said later. 'I couldn't undermine the position of honest upholders of our written laws by intervening until a final appeal for clemancy reached me.']

สตีเวนสันเล่าต่อไปว่า แต่เมื่อถึงเวลาที่จำเลยถูกตัดสินประหารชีวิตขั้นสุดท้าย และทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ เผ่าได้ดำเนินการประหารชีวิตจำเลยไปโดยปกปิดข่าว และด้วยการกักหนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ไม่นำขึั้นทูลเกล้าฯถวาย ในหลวงไม่ทรงทราบข่าวการประหารชีวิตนั้นเลย จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว และมีข่าวลือไปถึงพระองค์ (He had been told nothing about the executions. - The Revolutionary King หน้า 119) สตีเวนสันอ้างว่า ในหลวงทรงกริ้วอย่างยิ่ง (rage) . . .

ในหลวงทรงรีบกลับจากวังไกลกังวลเมื่อข่าวลือเรื่องการประหารชีวิตไปถึงพระองค์. พระองค์ได้ทรงปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ทรงเข้าแทรกแซงกับกระบวนการยุติธรรม, เพราะคิดว่าทรงได้รับหลักประกัน [จากรัฐบาล] เรื่องความเป็นอิสระและเข้มแข็งของศาลแล้ว. ในความกริ้วอย่างเงียบๆของพระองค์, พระองค์ได้ตระหนักว่าพระองค์ทรงอยู่ในฐานะไร้ซึ่งอำนาจเพียงใด. พระองค์ได้ทรงยืนยันไปก่อนหน้านั้นว่า ราษฎรทุกคนมีสิทธิที่จะถวายฎีกาขออภัยโทษถึงพระองค์โดยตรง. บัดนี้ ทรงพบว่าความพยายามที่จะถวายฎีกาถึงพระองค์ของครอบครัวแพะรับบาปทั้งสามถูกหยุดยั้่งโดยบรรดาข้าราชสำนักที่ถูกตำรวจของเผ่าดึงตัวไปเป็นพวก . . . บนโต๊ะทำงานของเผ่า หนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามถูกวางทิ้วไว้

[The King hurried back for Far-From-Worry when the rumours reached him. He had let the months passed without interfering with the due process of law, thinking he had won his demand for a strong and independent judiciary. In his silent rage, he saw how powerless he really was. He had insisted that every citizen had the right to petition him directly. Now he discovered that attempts to reach him by the scapegoats’ families had been stopped by courtiers subverted by Phao’s police. . . . . On Phao’s desk remained the last written appeals from the dead men for a king’s pardon.]

(ข้อความภาษาอังกฤษข้างต้นนี้ ผมได้อ้างไว้ในบทความ โดยไม่แปลอย่างจงใจ เพิ่งมาแปลในครั้งนี้)

ในบทความของผม ผมได้ยกข้อมูลชั้นต้นร่วมสมัยจำนวนมาก ทั้งรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีและรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ มาแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงฎีกาขอภระราชทานอภัยโทษของจำเลยทั้งสามได้รับการส่งผ่านจากคณะรัฐมนตรีไปถึงราชเลขาธิการและราชเลขาธิการได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายตามกระบวนการ และต่อมา "ราชเลขาธิการแจ้ง [คณะรัฐมนตรี] มาว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้" (คือไม่ทรงโปรดเกล้าฯให้อภัยโทษ) ในระหว่างที่ฎีกา ส่งถึงราชสำนักแล้ว แต่ยังไม่ทราบผล หนังสือพิมพ์สมัยนั้น รวมทั้ง สยามรัฐ ก็ได้รายงานข่าวอย่างแพร่หลาย มีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ไปสัมภาษณ์ ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ราชเลขาธิการ ด้วย ซึ่ง ม.จ.นิกรเทวัญ ทรงรับสั่งยืนยันว่า "ฎีกาของจำเลยทั้งสามคนนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายมาหลายวันแล้ว" ผมยังได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ ที ม.จ.นิกรเทวัญ จะร่วมมือกับเผ่า กักหนังสือฎีกาไว้ไม่ทูลเกล้าถวาย เพราะ ม.จ.นิกรเทวัญ เป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯให้เป็นราชเลขาธิการด้วยพระองค์เองให้อยู่ในตำแหน่งราชเลขาธิการตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2505 ซึ่งรวมเวลาที่ทรงโปรดเกล้าฯต่ออายุราชการให้ถึง 5 ครั้งจนครบตามระเบียบที่ต่ออายุราชการได้

ส่วนสาเหตุที่ทรง "โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกา"  ของ 3 จำเลยคืออะไร ผมไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน

วิลเลียม สตีเวนสัน เดินสนทนากับในหลวง
อเล็กซานดร้า ลูกสาวของ สตีเวนสัน ร่วมกิจกรรมกับนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา

กรุณาอ่านประกอบกับกระทู้นี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=155497804503507&set=a.137616112958343.44289.100001298657012&theater 


....................................


"เรื่องเล่า" จากแวดวงราชสำนัก (2): ความเป็นมาของเพลง "ความฝันอันสูงสุด"